จากกรณีมีการเผยแพร่คลิบวีดิโอ นักเรียนแต่งกายด้วยชุดพละ รวมแถวเคารพธงชาติ มีการร้องเพลงชาติไทย ตามด้วยเพลงชาติพม่า โดยผู้โพสต์คลิปดังกล่าวใช้บัญชีบรรยายคลิปเป็นภาษาเมียนมา ระบุว่า “มิตาเย๊ะ เมียนมา” สุราษฎร์ธานี
เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ที่ศูนย์ห้องประชุมสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.สุราษฎร์ธานี นายสุคนธ์ หนูภักดี รอง ผวจ. สุราษฎร์ธานี พร้อมด้วย นายโชคดี ศรัทธากาล ศึกษาธิการจังหวัด พ.ต.อ.ณัฐชนนท์ เกิดก่อ รอง ผบก.ภ.จว.วุราษฎร์ธานี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กอ.รมน. จ.สุราษฎร์ธานี ตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกันแถลงข่าว เพื่อชี้แจ้งการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว
โดย นายสุคนธ์ กล่าวว่า หลังคลิปวิดีโอดังกล่าว ถูกเผยแพร่ทางโซเชียล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาได้มีคำสั่งด่วนให้ตรวจสอบซึ่งเราพบว่า โรงเรียนดังกล่าวเป็นศูนย์การเรียนรู้ภาษาพม่า ที่ลักลอบเปิดโดยไม่ได้รับอนุญาตและทราบว่ามีมานานแล้ว ซึ่งศึกษาธิการจังหวัดได้รายงานว่า ก่อนหน้านี้ได้ดำเนินการเข้าไปควบคุมและมีคำสั่งให้ปิด ศูนย์การเรียนรู้ภาษาพม่าดังกล่าวมาหลายครั้งแล้วแต่ปี 2565 แต่ปรากฏว่ายังคงมีการฝ่าฝืนและมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
จนปัจจุบันทราบว่ามีเยาวชนชาวพม่า ในศูนย์ดังกล่าว กว่า 1,000 คน โดยใช้สถานที่ของโรงเรียนโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในพื้นที่ ตำบลบางกุ้ง อ. เมืองสุราษฎร์ธานี ซึ่งหลังจากทราบว่าคลิปวิดีโอที่ถูกเผยแพร่ออกไปนั้นเป็นของ “โรงเรียนมิตาเย๊ะ” ทางศึกษาธิการจังหวัดก็ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน สภ. เมืองสุราษฎร์ธานี เพื่อ เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ในการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีทางกฎหมาย
ขณะที่ นายโชคดี ศรัทธากาล ศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า เมื่อปี 2565 ได้มีการยื่นคำขอจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ชื่อว่า “ศูนย์การเรียนมิตาเย๊ะ” ในพื้นที่อาคารเรียนเดิมของวิทยาลัยเทคโนโลยีบางกุ้ง ที่ยุติการเรียนการสอนไปแล้ว แต่คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด ได้มีมติ ไม่อนุญาตให้จัดตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหลายข้อและได้สั่งให้ยุติการสอนภาษาพม่าไป อย่างไรก็ตาม ศูนย์การเรียนดังกล่าว ยังคงลักลอบเปิดการสอนมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าตนจะพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ทั้งศึกษาธิการจังหวัด เขตพื้นที่การศึกษา และ ฝ่ายปกครอง ได้เข้าไปสั่งปิด ก็กลับมาเปิดใหม่นับ 10 ครั้ง และบางครั้ง ผู้ให้เช่าสถานที่ ยังมีการโต้แย้งว่าเจ้าหน้าที่ ไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการสั่งปิด
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานด้านความมั่นคง ระบุว่า ในส่วนที่เกี่ยวกับภารกิจของหน่วยงาน เช่น การตรวจสอบการอยู่อาศัยในราชอาณาจักร ของเด็กและผู้ปกครอง การอนุญาตทำงาน และการกระทำผิดเกี่ยวกับความมั่นคง จะต้องตรวจสอบโดยละเอียด เพื่อดำเนินการกับผู้เกี่ยวข้อง ทั้งครูชาวเมียนมา 24 คน ครูคนไทย 6 คน รวมถึงครูใหญ่ และ เจ้าของสถานที่ให้เช่าเปิดศูนย์การเรียน.