อ.พญ.ธีรดา ศิริปุณย์ สาขาวิชามะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการใช้เคมีในการบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง ว่า โรคมะเร็งเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุดเป็นอันดับ 1 หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องการรักษาด้วยเคมีบำบัดกันมาบ้าง แต่เรามักจะนึกถึงผลข้างเคียงที่น่ากลัว รวมถึงความเชื่อต่างๆ ที่แชร์ต่อๆ กันมาของการรักษาด้วยวิธีนี้ วันนี้มาหาคำตอบกันว่า เคมีบำบัดรักษามะเร็งน่ากลัวอย่างที่ว่ากันจริงไหม และความเชื่อที่แชร์กันนั้นเรื่องไหนจริงหรือเท็จ
การรักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัดคืออะไร
เคมีบำบัด คือ การให้ยาที่เป็นเคมีเพื่อหยุดยั้งหรือทำลายวงจรเซลล์มะเร็ง ซึ่งเป็นเซลล์ที่มีความสามารถในการแบ่งตัวมากกว่าเซลล์ทั่วไป ปัจจุบันเคมีบำบัดเป็นยาที่มีประสิทธิภาพดี และใช้ในการรักษามะเร็งแทบทุกชนิด ทั้งนี้เคมีบำบัดใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งได้เกือบทุกชนิด มีมะเร็งเพียงไม่กี่ชนิดที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีนี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อแพทย์ให้การรักษาด้วยเคมีบำบัดจะขึ้นอยู่กับเป้าหมายในการรักษาเป็นสำคัญ ในผู้ป่วยที่มะเร็งแพร่กระจาย การใช้เคมีบำบัดรักษามะเร็ง ถือเป็นยาหลักในการรักษาเพื่อควบคุมไม่ให้โรคแพร่กระจาย และทำให้ก้อนมะเร็งยุบลง ส่วนในผู้ป่วยระยะเริ่มต้น เคมีบำบัดจะช่วยเสริมการรักษาเฉพาะที่ เช่น การผ่าตัด แพทย์อาจให้เคมีบำบัดก่อนหรือหลังผ่าตัด เพื่อเสริมประสิทธิภาพการรักษาให้ดีขึ้น
ข้อควรระวังเมื่อได้รับเคมีบำบัด
ผู้ป่วยควรระมัดระวังเรื่องการกินอาหาร เลือกกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ไม่กินอาหารที่ไม่สุก และยาประเภทอื่น เช่น ยาสมุนไพร ยาชุด ยาต้ม ยาหม้อ หากจะใช้ยาเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้ก่อน
สำหรับผลข้างเคียงของการใช้ยาเคมีบำบัดนั้น อาจแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นอยู่กับสูตรของยา โดยทั่วไปอาจทำให้อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ผู้ป่วยบางรายอาจมีเม็ดเลือดต่ำลง ยาบางสูตรอาจทำให้ผมร่วง ท้องเสีย หรือเกิดอาการชาได้
คำแนะนำในการดูแลสุขภาพ หลังรักษาด้วยเคมีบำบัด
1. กินอาหารครบ 5 หมู่ 2. เลือกกินอาหารสุก สะอาด ปลอดภัย 3. ไม่กินอาหารจำพวกสมุนไพร อาหารเสริม ยาต้ม ยาชุด หากจะใช้ยาเหล่านี้ ควรปรึกษาแพทย์ 4. พักผ่อนให้เพียงพอ ดูแลสุขภาพกายและจิตใจให้แข็งแรง
โดยรวมแล้ว การให้ยาเคมีบำบัดรักษามะเร็งจึงไม่ใช่เรื่องน่ากลัว หากผู้ป่วยและคนดูแลมีความรู้ความเข้าใจ แต่เหนือสิ่งอื่นใดการดูแลสุขภาพกายและจิตใจให้แข็งแรง ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถสู้กับโรคและรับมือกับผลข้างเคียงได้ดีมากยิ่งขึ้น