เมื่อวันที่ 6 ก.ย. นายศักดา นพสิทธิ์ อดีตโฆษกเพื่อไทยและแกนนำ นปช. กล่าวถึงหน้าตา “ครม.แพทองธาร 1” ว่า การตั้งครม.ในครั้งนี้ มองได้ 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือเป็นไปตามรูปแบบการเมืองเก่าเคยตั้งมาอยู่แล้ว วันนี้ไม่ได้มองหรือมีความคาดหวังใหม่อย่างไร ความมุ่งหวังของรัฐบาลคือต้องการเสถียรภาพเป็นด้านหลัก จึงเกิดการดึงพรรคการเมืองโดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วม ซึ่งไม่ใช่แค่ตอบโจทย์ความเข้มแข็งในการบริหารราชการแผ่นดิน แต่เป็นความต้องการเสียงข้างมาก ต้องการพรรคต่างๆ เข้ามาร่วมเพื่อให้รัฐบาลเข้มแข็ง นับแต่นี้ต่อไปถ้ารัฐบาลมีปัญหาอะไร บรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ก็จะช่วยโอบอุ้มให้รัฐบาลอยู่รอดปลอดภัย
นายศักดา กล่าวต่อว่า อีกส่วนคือการเอากลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เข้าร่วมรัฐบาล แต่ขัดกับหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งถ้ายอมให้ ร.อ.ธรรมนัสนำพลพรรคไปทั้งหมด ก็อาจจะกลายเป็นพรรคเพื่อไทยสาขา 2 หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐรู้และไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น จึงต้องยืนยันมติพรรค สาย ร.อ.ธรรมนัสจึงหลีกเลี่ยงไม่ส่งคนในนามพรรคพลังประชารัฐ สุดท้ายพรรคพลังประชารัฐที่เหลืออยู่อาจจะเล่นเกมข้างนอกเพื่อล้มรัฐบาล ดังนั้นการดึงพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วม จึงทำให้ได้เสียง และวางเป้าหมายต่อไป ไม่ให้มีพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งสมัยหน้า ซึ่งผู้นำพรรคเพื่อไทยเคยพูดว่ายิงปืนนัดเดียวได้นก 3 ตัว
นายศักดา กล่าวว่า ทั้งนี้มองว่าการตั้งรัฐบาลครั้งนี้ ไม่เห็นโฉมหน้ารัฐมนตรีใหม่เลย และไม่สอดรับกับนายกฯ ที่เป็นคนอายุน้อยและเป็นคนรุ่นใหม่ การตั้ง ครม.ดึงพรรคใหม่เข้าร่วม แต่ไม่ใช่รูปแบบการเมืองใหม่ แต่เป็นการตั้งตามโควตา ในเชิงปริมาณไม่ใช่ตั้งตามคุณภาพความรู้ความสามารถ และน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ต้องเข้ามาแบกรับภารกิจต่อจากนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ ที่แม้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำรัฐบาล แต่ทำงานไม่ได้ตามความคาดหวัง ซึ่งการตั้งรัฐมนตรีในเชิงโควตา ไม่คำนึงถึงเศรษฐกิจปากท้อง จะส่งผลต่อความนิยมที่จะถดถอยลงกว่าเดิม ยิ่งถ้าการเลือกตั้งเกิดเร็วขึ้นคะแนนความนิยมจะลดน้อยลงแน่นอน แต่ปัจจัยคือทีมงานนอกครม.ที่จะเป็นตัวช่วยทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นมาได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ซีกอนุรักษนิยมกลุ่มอำนาจเดิม ที่มีทั้งพรรคเพื่อไทย ภูมิใจไทย รวมไทยสร้างชาติ จะแย่งความนิยมกันเองอย่างแน่นอน ส่วนอีกซีกที่หัวก้าวหน้าก็จะให้ความนิยมกับพรรคประชาชนเป็นหลัก แม้ 44 สส.จะถูกตัดสิทธิทางการเมืองหรือไม่ ก็ไม่มีผลอะไร
นายศักดา กล่าวว่า ในขณะที่คนเสื้อแดงนั้น ต้องยอมรับว่ากลุ่มเสื้อแดงมี 2 แนวคิด คือคนที่ชอบแนวคิดเชิงก้าวหน้า มีอุดมการณ์ที่ร่วมสนับสนุนพรรคเพื่อไทย และอีกส่วนคือกลุ่มเอฟซีเท่านั้น เชื่อว่าคนเสื้อแดงที่มีอุดมการณ์ 70-80 เปอร์เซ็นต์ไปจากพรรคเพื่อไทยหมดแล้ว ส่วนที่เหลือจึงเป็นแค่เอฟซี วันนี้ถ้าให้ประเมินถึงอนาคตข้างหน้า พรรคเพื่อไทยจะไม่เหลือตัวช่วยที่ทำงานนอกระบบการเมืองในแต่ละภูมิภาคหรือจังหวัดแล้ว แกนนำที่เป็นจิตวิญญาณในระดับอำเภอ จังหวัด ถ้าไม่เฉยก็จะไปร่วมกับพรรคใหม่ พรรคเพื่อไทยจะไม่เหลือทุนเก็บในเรื่องความนิยม เหลือเพียงผลงานด้านเศรษฐกิจว่าจะทำได้หรือไม่ แต่ ครม.เศรษฐกิจเป็นรูปแบบผสม ถึงแม้จะขับเคลื่อนความนิยมจากลบขึ้นมาได้ แต่โอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะได้คะแนนเสียงกลับมาเท่าเดิมก็ยากแล้ว มีแต่ถดถอยลงเรื่อยๆ
ส่วนมองอายุรัฐบาลอย่างไรนั้น นายศักดา กล่าวว่า มองจากการแบ่งผลประโยชน์ ตนตั้งข้อสังเกตที่ รมช.กลาโหมที่เป็นคนใกล้ชิดคนสนิทกลุ่มอำนาจเก่าจึงสะท้อนถึงการจับมือที่จะสนับสนุนให้รัฐบาลอายุยาว แต่จะอยู่ได้เท่าไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง รัฐบาลมีเวลาสร้างผลงานในเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องความเป็นอยู่ ถ้าความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น อายุรัฐบาลก็อาจจะยาว อย่างไรก็ตามการล้มรัฐบาลไม่ได้เกิดจากปัจจัยภายนอก เสียงเรียกร้องของประชาชนหรือการลงถนนล้มรัฐบาลไม่ได้ แต่จะล้มจากภายในคือพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง นอกจากนั้นคือเครื่องมือใหม่ในการจัดการรัฐบาลคือการร้องเรียนประเด็นกฎหมาย จริยธรรม หรือกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่คิดว่ากลไกรัฐบาลที่มีหลายพรรคจะช่วยปกป้องรัฐบาลได้ อยู่ที่การบริหารจัดการของรัฐบาล และศาลรัฐธรรมนูญต้องมองการเดินหน้าทางการเมืองด้วย เชื่อว่ารัฐบาลจะไม่อยู่ในระยะสั้น แต่จะครบเทอมหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องนี้.