เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 67 กองทัพเรือ ได้ดำเนินการเคลื่อนย้าย เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ต.99 ลำเลียงโดยรถเทรเลอร์ 82 ล้อ มุ่งหน้าจากท่าเทียบเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ ขึ้นสู่ถนนสายหลัก สุขุมวิทหมายเลข 3 เพื่อนำเรือจัดวางบริเวณหน้าประตูทางเข้า หน่วยกำลังรบหลักของกองทัพเรือ กองเรือยุทธการ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
ซึ่งการลำเลียงเคลื่อนย้ายเรือครั้งนี้ กองทัพเรือ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการวางแผนเคลียร์เส้นทางการจราจรมาเป็นอย่างดี จึงทำให้การจราจรสามารถเคลื่อนตัวไปได้อย่างปกติ ซึ่งได้สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้คนจำนวนมาก ที่กำลังขับรถสัญจรผ่านไปมาบนถนนหลวง ต่างชื่นชมความสง่างาม หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก โดยเฉพาะช่วงที่เรือได้เคลื่อนตัวผ่านบริเวณสะพานลอยหน้าหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานรักษาฝั่ง ซึ่งต้องใช้รถเครนขนาดใหญ่ จำนวน 2 คัน ทำการยกสะพานให้ลอยขึ้น ก่อนให้รถเทรเลอร์ลำเลียงเรือลอดผ่าน นับเป็นภาพที่หาชมได้ยาก ที่จะเห็นเรือรบขนาดใหญ่ อวดโฉมแล่นอยู่บนถนนหลวงเช่นนี้ ซึ่งการดำเนินการ สามารถนำเรือจัดวางบนฐานรองรับได้แล้วเสร็จในเวลา 12.00 น. รวมระยะเวลา 4 ชม.
เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ต.99 เป็นเรือที่ประจำการอยู่ในสังกัด กองเรือยามฝั่ง กองเรือยุทธการ ขึ้นระวางประจำการเมื่อ 9 ม.ค. 2531 ปลดระวางเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2565 ปฏิบัติภารกิจในท้องทะเลยาวนานถึง 34 ปี ถือเป็น 1 ใน 9 เรือรบหลวงที่ต่อขึ้นใช้เองในราชการของกองทัพเรือไทย โดยกรมอู่ทหารเรือ ในช่วงปีพุทธศักราช 2511-2530 อันประกอบด้วย เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ต.91–ต.99 ซึ่งเป็นเรือที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ในการพระราชทานทั้งพระราชดำริ และพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับการต่อเรือ ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลักการพึ่งพาตนเอง ทำให้กองทัพเรือมีขีดความสามารถในการต่อเรือด้วยตนเอง ประหยัดงบประมาณ รวมถึงเป็นแนวทางในการพัฒนาเรือรบที่ทันสมัย เพื่อใช้ปฏิบัติภารกิจการรักษาอธิปไตย และปกป้องผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
ดังนั้น พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ จึงมีดำริให้นำเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ต.99 ที่ถือเป็นเรือหลวงของพ่ออันทรงคุณค่า ที่สร้างคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติมาอย่างยาวนาน ควรค่าแก่การอนุรักษ์เชิดชู ให้ได้ประจักษ์สู่สายตาประชาชนชาวไทย และชาวต่างชาติ อีกทั้งเพื่อเป็นการรำลึกในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีความห่วงใยในด้านการพัฒนากำลังรบอย่างชัดแจ้ง และเป็นที่ประจักษ์แก่กองทัพเรือ ที่พระราชทานวินิจฉัย และคำแนะนำในการต่อเรือรบให้แก่กองทัพเรือ ได้พัฒนาต่อสร้างเรือรบด้วยตนเอง มาจนตราบทุกวันนี้.