จากกรณีมีการเผยแพร่คลิบวีดิโอ นักเรียนซึ่งแต่งกายด้วยชุดพละ รวมแถวเคารพธงชาติ มีการร้องเพลงชาติไทย ตามด้วยเพลงชาติเมียนมา ลงบนโซเชียล โดยผู้โพสต์คลิปดังกล่าวใช้บัญชีบรรยายคลิปเป็นภาษาเมียนมา ระบุว่า มิตาเย๊ะ เมียนมา สุราษฎร์ธานี ซึ่งต่อมา จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยรองผู้ว่าราชการจังหวัด และ ศึกษาธิการจังหวัด เข้าแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง ความผิดฐานจัดตั้งโรงเรียนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต พร้อมทั้งมีคำสั่งห้ามจัดการเรียนการสอน ตามข่าวที่เสนอไปแล้วนั้น
คุมเข้มโรงเรียนเถื่อน-สุราษฎร์ ลอบเปิดผิดกฎหมาย กระทบความมั่นคง
ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 6 ก.ย. พ.ต.อ.ณัฐชนน เกิดก่อ รอง ผบก.ภ.จว.สุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า หลังจากตัวแทน สำนักศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีกับพนักงานสอบสวน สภ.เมืองสุราษฎร์ธานี เพื่อดำเนินคดีกับนายขอ คาย เมียว สัญชาติเมียนมา ในความผิดฐานจัดตั้งโรงเรียนในระบบโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ตามมาตรา 130 แห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน 2550 พล.ต.ต.เสริมพันธุ์ ศิริคง ผบก.ภ.จว. สุราษฎร์ธานี จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวน เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างรัดกุม
โดยล่าสุดพนักงานสอบสวนได้มีการเรียกเจ้าหน้าที่ของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด เข้าให้ปากคำเพิ่มเติม ในฐานะผู้เสียหาย เพื่อจะได้ดำเนินการในขั้นตอนต่อไป ซึ่งในการสอบสวนปากคำและแจ้งข้อกล่าวหานั้น นอกเหนือจาก นายขอ คาย เมียว ที่ถูกระบุว่าเป็นครูใหญ่ของศูนย์การเรียน มิตตาเย๊ะ ยังมีผู้เกี่ยวข้องอีกหลายราย ที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย เท่าที่ทราบในเบื้องต้นจากการที่นายขอ คาย เมียว เคยให้เข้าถ้อยคำ ต่อคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดการศึกษาของชาวต่างด้าวในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 ระบุว่าตัวนายขอ เป็นเพียงลูกจ้าง โดยมีนายจ้างเป็นบุคคลอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน ซึ่งในประเด็นนี้พนักงานสอบสวนจะต้องสอบสวนปากคำขยายผลให้ได้ว่าบุคคลที่อยู่เบื้องหลังของการขออนุญาตเปิดศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ คือใครและมีส่วนเกี่ยวข้อง ในการจัดตั้งศูนย์การเรียนในลักษณะใด มีผู้ใดได้ประโยชน์จากการเปิดศูนย์การเรียนนี้บ้าง ซึ่งการสอบสวนจะต้องหาพยานหลักฐานที่ชัดเจนว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายตามความผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูล ของตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วมกับจัดหางานจังหวัด พบว่าครูชาวเมียนมาทั้ง 24 คน ทั้งหมดได้รับอนุญาตให้ทำงานประเภทกรรมกร อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดของเจ้าหน้าที่ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าอาจจะเข้าข่ายความผิด“ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ หรือทำงานผิดประเภทที่ได้รับอนุญาต
ด้านนายโชคดี ศรัทธากาล ศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ส่วนการดูแลเด็กชาวเมียนมา ซึ่งเรียนอยู่ที่ศูนย์การเรียนดังกล่าวที่จากข้อมูลว่ามีมากกว่า 1,100 คน นั้น หากผู้ปกครอง หรือเด็กประสงค์จะเข้าเรียนหลังจากนี้ก็สามารถเข้าเรียนยังโรงเรียนในสังกัด สพฐ. โรงเรียนสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น หรือโรงเรียนเอกชน ที่มีอยู่จำนวนมาก เพียงพอจะรับนักเรียนเหล่านี้เข้าเรียนได้ แต่นักเรียนจะเรียนตามหลักสูตรของไทย
ข่าวรายงานว่า สำหรับศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ บางกุ้ง ปัจจุบันมีนักเรียนประมาณ 1,200 คน จัดการศึกษาในระดับอนุบาล และระดับ Grade 1- 10 รวม 21 ห้องเรียน มีผู้สอน จำนวน 30 คน แบ่งเป็น ชาวเมียนมา 24 คน ชาวไทย 6 คน ใช้หลักสูตรการเรียนของประเทศเมียนมาทุกวิชา และเพิ่มวิชาประวัติศาสตร์ และวิชาภาษาไทย มีการออกหนังสือรับรองความรู้ในแต่ละระดับชั้น เพื่อนำไปเป็นหลักฐานในการใช้สอบเทียบความรู้กับเขตพื้นที่การศึกษาของประเทศเมียนมา หากสอบผ่านจะได้รับวุฒิ การศึกษาจากประเทศเมียนมา