“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” รายงานเงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำสถิติแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 19 เดือน (1 ปี 7 เดือน) ที่ 33.49 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ มีสัญญาณอ่อนแอ
เงินบาทกลับไปเคลื่อนไหวในกรอบที่อ่อนค่ากว่าแนว 34.00 บาทดอลลาร์ฯ ช่วงสั้นๆ ในช่วงต้นสัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวกลับมาบางส่วนตามการปรับโพสิชั่นของตลาด หลังตัวเลขเงินเฟ้อ PCE/Core PCE ของสหรัฐฯ สะท้อนว่า เฟดอาจไม่จำเป็นต้องเร่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในขนาดที่มากกว่า 25 bps. ในการประชุม FOMC เดือนก.ย. นี้
อย่างไรก็ดี เงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นทะลุ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ อีกครั้งในช่วงกลาง-ปลายสัปดาห์ ไปแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 19 เดือนที่ 33.49 บาทต่อดอลลาร์ฯ (แข็งค่าสุดนับตั้งแต่ 10 ก.พ. 2566) ตามสถานะซื้อสุทธิทั้งในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ
นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับทิศทางการแข็งค่าของสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย และการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก สวนทางกับเงินดอลลาร์ฯ ที่เผชิญแรงขาย หลังตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ออกมามีสัญญาณอ่อนแอ
ในวันศุกร์ที่ 6 ก.ย. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 33.49 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นระดับแข็งค่าสุดในรอบ 19 เดือน เทียบกับระดับ 33.86 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (30 ส.ค. 67)
สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 2-6 ก.ย. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 15,496 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 9,517 ล้านบาท (แบ่งเป็น ซื้อสุทธิพันธบัตร 10,017 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 500 ล้านบาท)
สัปดาห์ระหว่างวันที่ 9-13 ก.ย. ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 33.30-34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ รายละเอียดของนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และสถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลก
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนส.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) สำหรับเดือนก.ย. และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2567 ของญี่ปุ่น และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนส.ค. ของจีน อาทิ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต และยอดปล่อยกู้ใหม่สกุลเงินหยวน