วันที่ 12 ก.ย. นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงานศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยว่า กรณีรัฐบาลเปลี่ยนรูปแบบแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เป็นเงินสดให้กับกลุ่มเปราะบาง มองว่าต้องดูเป้าประสงค์ ถ้าดูนโยบายเดิมเงินดิจิทัลต้องการกระตุ้นการใช้จ่ายเงิน และให้ใช้ซื้อสินค้าได้บางอย่าง แต่ตอนนี้เปลี่ยนเป้าประสงค์ไปต้องการช่วยกลุ่มเปราะบางที่ยากลำบาก
ทั้งนี้ ในการแจกเงินดิจิทัลไปยังกลุ่มที่ไม่ใช่เปราะบาง มีความจำเป็นน้อยลง เพราะกลุ่มนี้มีความสามารถใช้การใช้จ่ายเงินอยู่แล้ว และรูปแบบเปลี่ยนได้ตามความต้องการหากรัฐบาลต้องสูญเสียเงินที่เท่ากัน เช่น การให้ลดภาษี 10,000 บาท ถ้าคนนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษี 10,000 บาท รัฐก็จะเสีย แต่ถ้าคนไม่ใช้สิทธิ รัฐก็ไม่เสีย
ส่วนกรณีต้องการให้แฮร์คัตหนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้คนไทย โดยมองว่าปัญหาหนี้เป็นปัญหาใหญ่สุดของประเทศ ซึ่งการยอมรับว่าหนี้เป็นปัญหา ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่จะแก้ไขปัญหาอย่างไร ยังมีรายละเอียดค่อนข้างมาก
“หนี้ที่มีอยู่ เป็นหนี้ครัวเรือน รายย่อย เอสเอ็มอีเยอะ โดยเวลานี้ภาครัฐ ธนาคารแห่งประเทศไทย ภาคธนาคารกำลังศึกษาอยู่ หลักการสำคัญคือการแก้หนี้ให้ดี ต้องระวังมอรัลฮัดซาร์ด เช่น ช่วยลูกหนี้ในวันนี้ แต่ในอนาคตก็รอว่าจะมีแฮร์คัตหนี้ให้อีก ทำให้มองว่าต้องใช้กลไกตลาดเข้ามาช่วย ต้องให้สมัครใจ สร้างแรงจูงใจอย่างไร ซึ่งจะบังคับทำไม่ได้ ทุกคนก็เลิก โดยการแก้หนี้ต้องใช้เวลา จะมีเครื่องมืออะไร หากหนี้หนักขึ้นจะเป็นอย่างไร เป็นโจทย์ของรัฐบาล”