วานนี้ (11 ก.ย. 2567) จอน บอง โจวี ศิลปินร็อกระดับตำนาน พบหญิงคนหนึ่งกำลังยืนอยู่นอกรั้วกั้นสะพาน จอห์น ซีเกนเธเลอร์ ซึ่งเป็นสะพานคนเดินในเมืองแนชวิลล์ รัฐเทนเนสซี เมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ขณะที่เขากำลังถ่ายทำมิวสิกวิดีโอเพลง “People’s House”
ระหว่างเกิดเหตุ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่ บอง โจวี กำลังถ่ายทำมิวสิกวิดีโอนั้น ไม่ได้มีการปิดสะพาน ยังคงเปิดให้ประชาชนทั่วไปสัญจรได้ตามปกติ
ในคลิปวิดีโอจากกล้องวงจรปิดที่เผยแพร่ทางเอ็กซ์ โดยกรมตำรวจนครแนชวิลล์ แสดงภาพของนักร้องนำของวง บอง โจวี ผู้โด่งดังจากเพลง “Livin’ on a Prayer” กำลังเดินเข้าไปหาผู้หญิงคนดังกล่าว ซึ่งทำท่าเหมือนอยากจะกระโดดลงจากสะพานสูง จากนั้นเขาก็เข้าไปพูดคุยกับเธอ พร้อมกับคนที่ผ่านมา เห็นเหตุการณ์อีกคนหนึ่ง
หลังจากนั้นไม่นาน บอง โจวี และพลเมืองดี ก็ช่วยกันดึงร่างของหญิงที่คิดจะกระโดดลงจากสะพานข้ามรั้วกั้นมายังฝั่งที่ปลอดภัย แล้วพวกเขาก็สวมกอดกัน
ศิลปินร็อกรุ่นใหญ่ไม่ได้แสดงความเห็นใด ๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คาดว่าเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของหญิงที่เกือบจะกระโดดสะพานเพื่อทำร้ายตัวเอง ด้านแหล่งข่าวใกล้ชิดให้ความเห็นว่า บอง โจวี เพียงทำสิ่งที่ใคร ๆ ก็คงจะทำในสถานการณ์เดียวกัน ซึ่งก็คือให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่มีความจำเป็น
นอกเหนือจากมีชื่อเสียงในฐานะศิลปินร็อก ตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1980 จอน บอง โจวี ยังเป็นที่รู้จักดีว่า ชื่นชอบการทำการกุศล เขาตั้งมูลนิธิเจบีเจ โซล ขึ้นในปี 2549 เพื่อช่วยเหลือคนไร้บ้าน คนยากจน และครอบครัวที่ขัดสนทั่วสหรัฐอเมริกา
ในฐานะผู้ก่อตั้งองค์กร เขาได้รับการฝึกอบรมอย่างครบถ้วนในการพูดคุยกับผู้คนในสถานการณ์วิกฤติ ซึ่งเขาได้ทักษะที่ได้จากการฝึกอบรมนั้น มาใช้ในโลกแห่งความเป็นจริง เมื่อได้ทำงานกับคนที่ตกอยู่ในภาวะวิกฤติ ต้องรับมือกับความหิวโหยและขาดที่อยู่อาศัย
กรมดับเพลิงแนชวิลล์และกรมตำรวจแนชวิลล์ มาถึงที่เกิดเหตุไม่นาน หลังจากการกระทำอันกล้าหาญของศิลปินดัง จอห์น เดรค หัวหน้ากรมตำรวจแนชวิลล์ แสดงความชื่นชม บอง โจวี ในโพสต์บนเอ็กซ์ พร้อมกับข้อความระบุว่า “เราทุกคนต้องช่วยกันดูแลกันและกันให้ปลอดภัย” ขณะที่ชาวโซเชียลมีเดียจำนวนมาก ก็ออกมาแสดงความชื่นชม บอง โจวี เช่นกัน บางคนยกย่องว่าเขาเป็นคนดีเทียบเท่านักบุญ ขณะที่ผู้ใช้เอ็กซ์อีกคนระบุว่า เขาคือตำนานและเป็นคนที่ยอดเยี่ยมมาก
สำหรับสะพานคนเดิน จอห์น ซีเกนเธเลอร์ นั้น ก็ได้รับการตั้งชื่อตามผู้สื่อข่าวคนหนึ่ง ซึ่งสร้างวีรกรรมการช่วยชีวิตชายคนหนึ่ง ไม่ให้กระโดดลงจากสะพานเพื่อฆ่าตัวตายเช่นเดียวกัน โดยเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1950
ที่มา : nypost.com
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES