เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมรัฐสภา ที่มีนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม วาระการแถลงนโยบายรัฐบาลของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดย น.ส.พุธิตา ชัยอนันต์ สส.เชียงใหม่ พรรคประชาชน อภิปรายตอนหนึ่งว่า เมื่อนำคำแถลงนโยบายครั้งนี้ ไปเทียบกับการแถลงนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี พบว่ารัฐบาลชุดนี้มีความตระหนักรู้เรื่องความท้าทายและประเด็นปัญหาท้าทายด้านการเมืองมากขึ้น แต่การตระหนักรู้นี้ ก็รู้เพียงแค่เรื่องที่ตัวเองเสียผลประโยชน์เท่านั้น นั่นคือเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาล ในคำแถลงนี้ได้ตกหล่นประเด็นสำคัญไปมากมายหลายประการ ใครๆ ก็รู้ว่าประเทศของเรามีปัญหาอะไรบ้าง แต่ปัญหาเหล่านี้ฝังรากลึก และคนที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ต้องมีอำนาจรัฐนั่นคือรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระเบิดเวลาที่ชื่อว่ารัฐธรรมนูญ 60 ตุลาการภิวัตน์ กองทัพที่ขี่คอรัฐบาลพลเรือน สิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ถูกละเมิด รวมถึงความยุติธรรมที่ล่าช้าบกพร่อง แต่รัฐบาลชุดนี้กลับมองเห็นเพียงความไร้เสถียรภาพทางการเมือง และการถอดถอนรัฐบาลออกจากอำนาจแบบที่คาดเดาไม่ได้แค่นั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลเจอมากับตัว และบอกว่านี่คือปัญหาว่าเสถียรภาพทางการเมือง แต่รัฐบาลไม่ได้พูดถึงช้างตัวใหญ่ที่อยู่ในห้องนี้
น.ส.พุธิตา กล่าวว่า ปัญหาเหล่านี้ชัดเจนจนจะทิ่มตา แต่รัฐบาลยังไม่กล้าเอ่ยถึงการแก้ปัญหาทางการเมือง ซึ่งการแก้ปัญหาทางการเมือง จะขาดคามกล้าหาญทางการเมืองไม่ได้ แค่การพูดถึงปัญหาอย่างตรงไปตรงมายังไม่กล้า ในนโยบายเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ หลายคนอาจจะดีใจว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเร็วที่สุด แต่มันไม่ใช่ เพราะนโยบายนี้กลับไปอยู่หลังหมวดระยะกลางและระยะยาวได้อย่างไรก็ไม่รู้ เหตุใดไม่กล้าสัญญาว่าจะเริ่มเมื่อไรและเสร็จภายในวันไหน ปีไหน นอกจากนี้ตนยังพบว่าในการแถลงนโยบายของรัฐบาลครั้งนี้ มีการตัดข้อความที่บอกว่าจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในคำถามประชามติและการออกแบบรัฐธรรมนูญออกไป เรื่องนี้หมายความว่าอย่างไร เป็นนัยว่าประชาชนจะไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ใช่หรือไม่ ส.ส.ร. ยังมีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนอยู่หรือไม่ และจะให้มีการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ กระบวนการจะเกิดขึ้นเมื่อไร ตนจึงไม่แน่ใจว่าเราจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่
น.ส.พุธิตา กล่าวว่า อีกประเด็นที่รัฐบาลหยิบยกมาเป็นนโยบายการเมือง คือ การฟื้นฟูหลักนิติธรรม แต่ที่น่าตกใจคือการพูดเรื่องหลักนิติธรรมแต่กลับเอาไปโยงกับการสร้างรายได้ ทั้งๆ ใจความสำคัญของหลักนิติรัฐ นิติธรรม คือการที่มีกฎหมายชัดเจนเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย การคุ้มครองปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยมีรัฐธรรมนูญหรือรัฐสภาเป็นอำนาจสูงสุด และเราต้องมีหลักประกันด้วยว่าตุลาการต้องมีความเป็นอิสระ ฝากถึงรัฐบาลและนายกฯ ว่าได้โปรดอย่าเอาเรื่องหลักนิติธรรมและความยุติธรรมไปผูกไว้กับเรื่องเศรษฐกิจและการหารายได้ มันเป็นคนละเรื่องกัน
น.ส.พุธิตา กล่าวอีกว่า ตนเห็นความพยายามของรัฐบาลในการก้าวข้ามความขัดแย้งที่มีมาอย่างยาวนาน พรรคประชาชนเห็นด้วยว่าความขัดแย้งที่มีต้องยุติได้แล้ว แต่มันจะต้องยุติลงได้ เพราะทุกคนได้รับความยุติธรรม ไม่ใช่แค่การที่นักการเมืองจับมือกันเพราะผลประโยชน์ลงตัว หรือมีศัตรูร่วมกัน จับมือกันแล้วทุกอย่างจะจบ ยังมีคนอีกจำนวนมากที่รอคอยความยุติธรรมอยู่ ยกตัวอย่าง เหตุการณ์ล้อมปราบผู้ชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 มีคดีจำนวนมากยังค้างคาอยู่ในศาลทหาร มีประชาชนตายด้วยอาวุธสงครามของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ไม่มีใครหน้าไหนได้รับโทษเลย ตอนนี้รัฐบาลก็มีอำนาจอยู่เต็มมือ คุมฝ่ายบริหาร คุมเสียงในสภาได้ 300 กว่าเสียง ขอท่านจัดการเรื่องนี้ด้วย ธรรมนูญศาลทหารต้องแก้ไข เพื่อจะได้นำผู้กระทำผิดมาขึ้นศาลยุติธรรม ศาลพลเรือน ความจริงแล้วเรื่องนี้พรรคเพื่อไทยตอนเป็นฝ่ายค้านสมัยที่แล้วก็เห็นชอบด้วยมาตลอด พ.ร.ป. ป.ป.ช. ที่เปิดโอกาสให้ประชาชน คนเสื้อแดง สามารถเรียกคืนความยุติธรรมได้ ที่เคยได้โฆษณาเอาไว้ แต่พรรคเพื่อไทยถอนร่างออกมาบอกว่าจะนำไปปรับแก้ แต่จนป่านนี้ไม่รู้ว่าร่างกฎหมายนี้ไปอยู่ที่ไหน
น.ส.พุธิตา กล่าวต่อไปว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญของประชาชนที่สูญเสีย ซึ่งพรรคเพื่อไทยน่าจะเข้าใจดี โดยเฉพาะนายกฯ ที่ได้พูดเองว่าเข้าใจความรู้สึกของพี่น้องเสื้อแดงดี ความยุติธรรมยังไม่มีให้กับประชาชน แล้วรัฐบาลนี้จะเดินหน้าสร้างเสถียรภาพทางการเมืองได้อย่างไร ตนไม่ได้บอกว่าเราจะต้องแก้แค้น เอาคืน กันแบบไม่มีวันจบ แต่การคืนความยุติธรรมให้กับผู้สูญเสียคือหลักประกันให้กับคนไทยทุกคน ไม่ใช่เฉพาะเสื้อเหลือง เสื้อแดง คนกลุ่มไหน หรือนักการเมืองกลุ่มไหน ว่าต่อจากนี้จะไม่มีอีกแล้วที่ผู้มีอำนาจปราบปรามประชาชนด้วยความรุนแรงแล้วจะรอดพ้นความผิดไปได้ อันนี้ต่างหากคือหลักนิติรัฐ นิติธรรม ที่รัฐบาลจะต้องยึดถือไว้ให้มั่น
“มีหลายคนที่รอความยุติธรรม มีหลายชีวิตที่ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ หลายคนยังเด็ก หลายคนที่ถูกขุมขังจากการแสดงออกทางการเมืองในช่วงความขัดแย้งอย่างรุนแรง ยังมีอีกหลายร้อยคน คนเหล่านี้ไม่ใช่อาชญากรที่ทำความผิดรุนแรง ปล้น ฆ่า ชิงทรัพย์ แต่คนเหล่านี้แค่แสดงออก แสดงความคิดเห็นทางการเมือง ที่แตกต่างจากสิ่งที่รัฐต้องการจะเห็นเท่านั้น การเอาผิดพวกเขาแบบที่รัฐไทยทำ การเอาผิดพวกเขาแบบที่รัฐไทยทำขัดต่อหลักนิติธรรม และไม่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล รัฐมนตรีหลายคนในห้องนี้ต่างก็เคยได้รับโอกาสจากการนิรโทษกรรมมาแล้ว ขออนุญาตเอ่ยชื่อ ไม่ว่าจะเป็นสหายใหญ่ ท่านภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ท่านสหายศรชัย ท่านสหายสุภาพ พวกท่านก็เคยได้รับความยุติธรรมเหล่านั้นมาแล้ว วันนี้พวกท่านจะคืนความยุติธรรม ให้กับประชาชนคนอื่นๆ ได้หรือไม่” น.ส.พุธิตา กล่าว
น.ส.พุธิตา กล่าวต่อไปว่า ตนอยากขอความชัดเจนจากรัฐบาลว่าจะมีนโยบายที่เป็นรูปธรรมอย่างไร ในประเด็นการเมือง ทั้งการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทั้งการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนคนไทยทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อเป็นหลักประกันให้กับสังคมเราในอนาคต รวมถึงจะทวงถามความคืบหน้าการนิรโทษกรรมด้วย ซึ่งพรรคประชาชนพร้อมให้ความร่วมมือเต็มที่ แต่รัฐบาลต้องตอบคำถามให้ชัดเจนว่าจะทำอะไร ทำอย่างไร และเมื่อไร อย่าให้ 3 ปีต่อจากนี้ เป็นเหมือน 1 ปีที่สูญเปล่าอย่างที่ผ่านมา.