ผศ. ดร. นพ.ไพฑูรย์ เบ็ญจพรเลิศ ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ออกมาเปิดเผยข้อมูล ว่า “ตะคริว” เป็นอาการหดเกร็งอย่างเฉียบพลันของกล้ามเนื้อหรือกล้ามเนื้อเกร็งเป็นก้อน ซึ่งสามารถเกิดได้ทุกส่วนของร่างกาย มักหายได้เอง หากเป็นบ่อยและมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ชา แสบร้อน พักแล้วไม่หาย ขาซีด ควรพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย
- เป็นตะคริวบ่อย เสี่ยงหลอดเลือดแดงแข็ง ?
จริงบางส่วน เพราะตะคริวเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ อาจเกิดจากความเมื่อยล้าหรือบ่งบอกว่ามีโรคซ่อนอยู่ก็ได้ เช่น หลอดเลือดแดงเข็งตัว จะรู้สึกเย็นและชาร่วมด้วย เมื่อเดินจะปวดมากขึ้น แต่เมื่อพักแล้วอาการจะหายไป - เป็นตะคริว เพราะดื่มน้ำไม่พอ ?
จริง เนื่องจากหนึ่งในสาเหตุของการเป็นตะคริวเกิดจากการที่ร่างกายสูญเสียน้ำ ดังนั้นหากดื่มน้ำไม่เพียงพอก็อาจทำให้เป็นตะคริวได้ - เป็นตะคริวให้กินของเค็ม เพราะร่างกายขาดเกลือแร่ ?
ไม่จริง เพราะของเค็มและเกลือแร่ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ดังนั้นเมื่อร่างกายขาดเกลือแร่ จนเกิดตะคริวขึ้น ให้กินแมกนีเซียมหรือแคลเซียมเพื่อป้องกันการเกิดขึ้นอีก
ทำอย่างไร เมื่อเป็นตะคริว
- ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
- นวดเบา ๆ แต่ไม่ควรกด เพราะจะยิ่งเจ็บ
- ประคบเย็นตรงที่มีอาการปวด จะช่วยให้หายเร็วขึ้น