สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 18 ต.ค.ว่านางเรตโน มาร์ซูดี รมว.การต่างประเทศของอินโดนีเซีย ให้การต้อนรับนายไซฟุดดิน อับดุลเลาะห์ รมว.การต่างประเทศของมาเลเซีย ที่กรุงจาการ์ตา เมื่อวันจันทร์


นอกจากการหารือเพื่อยกระดับความร่วมมือทวิภาคีในหลายด้าน รวมถึงเรื่องระเบียงการเดินทางแล้ว รัฐมนตรีของทั้งสองประเทศยังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน เกี่ยวกับบรรยากาศด้านความมั่นคงภายในภูมิภาค โดยเน้นประเด็นเชื่อมโยง “ออคัส” ซึ่งเป็นพันธมิตรไตรภาคีด้านความมั่นคง ที่สหรัฐ ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร จัดตั้งร่วมกันเมื่อไม่นานมานี้ โดยถือเป็นกลไกล่าสุดเพื่อคานอำนาจกับจีน และหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญของข้อตกลง คือการที่ออสเตรเลียได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเรือดำน้ำ จากสหรัฐและสหราชอาณาจักร เพื่อสร้างพาหนะเป็นของตัวเอง 8 ลำ


ทั้งนี้ มาร์ซูดีและไซฟุดดินแถลงร่วมกันว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้น “ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ฝ่ายใด” ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ด้านความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ควรเพิ่มความร่วมมือเพื่อรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงภายในภูมิภาคให้เป็นไปอย่างราบรื่น โดยไม่ควรมีกลไกใดเข้ามารบกวนให้เกิดการแข่งขันด้านอาวุธครั้งใหม่ และการช่วงชิงอำนาจในพื้นที่แห่งนี้


ขณะที่รัฐมนตรีของมาเลเซียแสดงความกังวลว่า การที่ออสเตรเลียซึ่งถือเป็น “ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง” มีเรือดำน้ำขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์อยู่ในครอบครอง อาจกลายเป็นการกระตุ้นให้ “ประเทศอื่น” ส่งเรือดำน้ำแบบเดียวกัน หรือคล้ายคลึงกัน เข้าสู่ทะเลในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยรัฐบาลกัวลาลัมเปอร์เคยออกมาเรียกร้องให้อาเซียนร่วมกันยึดมั่น และปฏิบัติตามสนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Nuclear-Weapon-Free Zone Treaty – SEANWFZ) หรือ สนธิสัญญากรุงเทพฯ ฉบับปี 2538 มีข้อกำหนดห้ามภาคีพัฒนา ผลิต ครอบครอง ได้มา หรือมีอิทธิพลเหนืออาวุธนิวเคลียร์.

เครดิตภาพ : AP