เมื่อวันที่ 18 ต.ค. สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) รายงานการรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เมื่อวันที่ 11-15 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยมีผู้สมัครรับเลือกตั้งทั่วประเทศ 76 จังหวัด รวมจำนวน 136,250 คน แบ่งออกเป็น ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบต.จำนวน 12,309 คน ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิก อบต. จำนวน 123,941 คน

โดยจังหวัดที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกและนายก อบต.สูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 7,333 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบต.จำนวน 554 คน และผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิก อบต. จำนวน 6,779 คน 2.จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 5,621 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบต. จำนวน 479 คน และผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิก อบต. จำนวน 5,142 คน 3.จังหวัดสุรินทร์ จำนวน 5,062 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบต. จำนวน 371 คน และผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิก อบต.จำนวน 4,691 คน 4. จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 4,823 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบต. จำนวน 415 คน และผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิก อบต.จำนวน 4,408 คน 5. จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 4,445 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบต. จำนวน 349 คน และผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิก อบต. จำนวน 4,096 คน 6. จังหวัดขอนแก่น จำนวน 3,761 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบต. จำนวน 361 คน และผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิก อบต.จำนวน 3,400 คน 7. จังหวัดมหาสารคาม จำนวน 3,686 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบต.จำนวน 294 คน และผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิก อบต.จำนวน 3,392 คน 8. จังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 3,609 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบต. จำนวน 325 คน และผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิก อบต. จำนวน 3,284 คน 9. จังหวัดชัยภูมิ จำนวน 3,322 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบต. จำนวน 262 คน และผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิก อบต.จำนวน 3,060 คน และ 10. จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 3,176 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครรับเลือกตั้ง อบต. จำนวน 280 คน และผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิก อบต. จำนวน 2,896 คน ส่วนจังหวัดที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและนายกองค์การบริหารส่วนตำบลน้อยที่สุด คือ จังหวัดภูเก็ต จำนวน 121 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบต. จำนวน 17 คน และผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิก อบต.จำนวน 104 คน

ทั้งนี้ มาตรา 52 วรรคสาม และวรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 บัญญัติว่า ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตรวจสอบความถูกต้องของการสมัครของผู้สมัคร และตรวจสอบว่าผู้นั้นมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ เมื่อเห็นว่าถูกต้องและผู้นั้นมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้ประกาศรายชื่อผู้สมัครภายในเจ็ดวันนับแต่วันปิดรับสมัคร ไว้โดยเปิดเผย ณ ที่เลือกตั้ง หรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง หรือสถานที่อื่นที่เห็นสมควร ประกาศรายชื่อผู้สมัครตามวรรคสาม ให้มีชื่อตัว ชื่อสกุล รูปถ่าย และหมายเลขประจำตัวของผู้สมัครที่จะใช้ในการลงคะแนนเลือกตั้ง ตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด ทั้งนี้ ให้ปิดประกาศคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 49 และมาตรา 50 ไว้ ณ ที่ปิดประกาศ ดังกล่าวด้วย.