นายสมชัย สัจจพงษ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยในงานเสวนาวิชาการ เรื่อง เพิ่มมุมคิด เติมมุมมอง ก้าวข้ามวิกฤติโควิด ครบรอบวันสถาปนา สศค.ปีที่ 60 ว่า วิกฤติโควิดครั้งนี้สร้างแผลเป็นให้เศรษฐกิจไทย และสะท้อนจุดอ่อนของประเทศมากมาย เช่น ปัญหาเหลื่อมล้ำรุนแรง ระบบการช่วยเหลือสังคมที่อ่อนแอ ไม่ทั่วถึง และความสามารถการบริหารจัดการของรัฐที่ควรทำได้ดีกว่านี้

ทั้งนี้ คลัง และ สศค.จะต้องช่วยดูแลปัญหาเศรษฐกิจอย่างเบ็ดเสร็จ ไม่ใช่ทำแบบผักชีโรยหน้า โดยมีเรื่องสำคัญ ได้แก่ ปัญหาคนตกงานให้กลับเข้าสู่ตลาดแรงงานอีกครั้ง โดยเปิดให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมเสนอสร้างงานในชุมชน ไม่ใช่มีแต่นโยบายแต่ส่วนกลาง และออกมาตรการแบ่งเป็นโซนสีตามความเดือดร้อน หรือให้มหาดไทย กองทุนหมู่บ้านเข้ามาช่วย เพราะการแจกเงินไม่ใช่สูตรสำเร็จ แจกไปเหมือนยิงปืนได้นกตัวเดียว แต่รัฐควรจะยิงแล้วให้ได้นก 2 ตัว ดังนั้นแจกเงินต้องมีเงื่อนไขให้เกิดแรงจูงใจพัฒนาทักษะ ถ้าแจกแค่ช่วยพยุงเศรษฐกิจไม่ได้สร้างโอกาสเติบโตในอนาคต ต่อไปเส้นจีดีพีของประเทศจะตกลงมาเรื่อยๆ

ด้านต่อมาการแก้ปัญหาเอสเอ็มอี รายย่อยให้กลับมาค้าขายได้ ที่ผ่านมารัฐพยายามจัดสินเชื่อเข้าช่วย แต่กลับพบว่าธุรกิจเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนเลย เพราะตาข่ายกรองมีรูรั่วเต็มไปหมด แถมติดขัดเงื่อนไขที่ของแบงก์ชาติ ซึ่งเป็นเรื่องตลก เพราะวิกฤติหนักขนาดนี้แต่ธุรกิจธนาคารยังมีกำไรหลายหมื่นล้าน เติบโตขึ้นทุกปี แต่เอสเอ็มอีกลับย่ำแย่ ซึ่งแบงก์พาณิชย์ และธนาคารแห่งประเทศไทย ควรมีบทบาทมากกว่านี้ และต้องปรับนโยบายการเงิน หาเครื่องมือใหม่เข้ามาช่วย

นายสมชัย กล่าวว่า ปัญหาหนี้สาธารณะ ก็เป็นเรื่องที่รัฐควรทำให้ดีกว่านี้ ไม่ใช่กู้จนทะลุเพดานแล้วก็ขอขยาย จะต้องบอกว่ามีวิธีใช้หนี้อย่างไร ใช้หมดเมื่อไร เพราะทำแบบนี้มีแต่ทำให้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ขาดมีประสิทธิภาพ และหมดความน่าเชื่อถือไป ขณะที่การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่กำลังพุ่งสูงสุดในประวัติศาสตร์ก็เป็นเรื่องใหญ่ ที่รัฐไม่ควรช่วยแค่ปรับโครงสร้างหนี้ พักหนี้ แต่ต้องช่วยลูกหนี้ให้มีความสามารถหาเงินมาใช้หนี้ได้ หรือการทำแผนแก้หนี้นอกระบบ ที่เคยทำแล้ว แต่ถูกละเลย ก็ลองดูว่าควรกลับมาทำหรือไม่ เพราะครั้งก่อนติดปัญหาการเมืองทำให้ไม่ประสบผลสำเร็จ

สำหรับปัญหาคนจน ซึ่งแม้รัฐจะออกบัตรคนจนมาแล้ว แต่ไม่ใช่ดีแค่แจกเงินอย่างเดียว เพราะเป้าหมายของบัตรคนจนมีไว้สำหรับช่วยคนจนให้พ้นจากความยากจน โดยเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 60 ซึ่งทำแล้วคนจนควรลดลง ไม่ใช่ยิ่งทำยิ่งเยอะขึ้น จึงขอฝาก สศค. ช่วยปรับแนวทางของบัตรใหม่ให้ดีกว่านี้ และอีกเรื่องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากต่างชาติ และสร้างความเติบโตระยะยาว สุดท้ายนี้ขอฝากอนาคตเศรษฐกิจไว้กับ สศค. ที่ต้องมีหลักการอย่าเป๋ไปกับนักการเมือง เพราะเราควรผลักดันสิ่งดีๆ ให้เศรษฐกิจ และประเทศให้เดินไปได้

นายสมชัย ฤชุพันธุ์ อดีต ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุด และมีโอกาสฟื้นฟูได้ แต่มีสิ่งที่น่ากังวลคือปัญหาดุลบัญชีเกินสะพัด และราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น รวมถึงไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนเชิงสังคมหลังโควิด ในยุคสังคมดิจิทัลเต็มตัว รวมถึงการหาพลังงานใหม่เข้ามาทดแทน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า ในอนาคตโควิดจะไม่หายไปไหน จะเป็นเหมือนไข้หวัดใหญ่ เมื่อติดแล้วก็ต้องรักษา แต่เชื่อว่าจะมีความเสี่ยงจากโรคอุบัติใหม่ หรือปัญหาภัยธรรมชาติเกิดขึ้น ดังนั้น เราควรจะสร้างภูมิคุ้มกันความเสี่ยงใน 3 ระดับ ได้แก่ ภาคประชาชนต้องมีการออม คู่กับสวัสดิการช่วยเหลือจากรัฐ ด้านภาคธุรกิจต้องมีการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง และภาครัฐ เช่น ปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ รวมถึงการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจรับเมกะเทรนด์ใหม่ ๆ