เมื่อวันที่ 18 ต.ค. ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ให้สัมภาษณ์ในรายการ “เจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์” ถึงกรณีการเปิดจองวัคซีน “โมเดอร์นา” เข็มกระตุ้น 50 ไมโครกรัมต่อโด๊ส ในราคา 555 บาท ของทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งในเรื่องของราคา ที่ถูกกว่าโรงพยาบาลเอกชน และเรื่องของปริมาณการได้รับวัคซีน ว่า เนื่องจากประเทศไทย และแถบเอเชีย ได้รับการฉีดวัคซีนด้วยเชื้อตายมาตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้นการกระตุ้นด้วยวัคซีนที่ใช้ทางประเทศตะวันตก ไม่มีข้อมูลทั้ง 2 ทาง ว่าจะใช้ในปริมาณ 50 หรือ 100 ไมโครกรัม ในขณะเดียวกันที่ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ศึกษา หากจะใช้วัคซีน “ไฟเซอร์” หรือ “โมเดอร์นา” เป็นเข็มกระตุ้น ต่อจากวัคซีนเชื้อตาย จะใช้ปริมาณเท่าไรจึงจะเหมาะสม ซึ่งเป็นเรื่องยาก เพราะทุกคนพุ่งแต่ระดับการภูมิคุ้นกัน ซึ่งทำให้หลงทาง จึงต้องอาศัยในหลายปัจจัย เช่น ดูการระบาดในขณะนั้นว่ารุนแรงขนาดไหน และคน ๆ นั้น เสี่ยงที่จะได้รับเชื้อรุนแรงหรือไม่

เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า การตัดสินใจของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในการใช้วัคซีนเข็มกระตุ้น mRNA ด้วยปริมาณแค่ 50 ไมโครกรัม ไม่ได้ถือเป็นการทดลอง เพราะทาง FDA สหรัฐอเมริกา ได้มีการรับรองให้ใช้ปริมาณ 50 ไมโครกรัม ในการกระตุ้นอย่างชัดเจนแล้ว เนื่องจากภูมิคุ้มกันขึ้นถึงระดับที่จะช่วยป้องกันโควิดสายพันธุ์ต่าง ๆ ได้ และอาการข้างเคียงจากการได้รับวัคซีนลดลง เพราะในภาวะที่คนไม่เป็นโรค แล้วไปให้การรักษา หรือการป้องกันนั้น ผลข้างเคียงเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่าเรื่องอื่น ทั้งนี้ ประเทศไทย ไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่ใช้วัคซีนเข็มกระตุ้นเพียงครึ่งโด๊ส แต่เป็นสูตรที่มีการนำมาใช้แล้วในหลายประเทศ เช่นที่ อังกฤษ, มาเลเซีย, สิงคโปร์ หรือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ส่วนใหญ่ไม่ได้อ่านหนังสือ จึงมีการพูดไปโดยที่ไม่มีความรู้

“วัคซีนเข็มกระตุ้น ไม่ว่าจะใช้ในปริมาณ 50 หรือ 100 ไมโครกรัม สามารถทำได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะใช้ในปริมาณที่มาก หรือน้อย แต่ผลการศึกษาที่ออกมา การใช้ในปริมาณ 50 ไมโครกรัม ผลข้างเคียงมันลดลง ซึ่งก็เป็นปริมาณที่ในต่างประเทศใช้กัน แต่ก็ถือเป็นข้อมูลใหม่ เพราะฉะนั้นหลังจากนี้ 4-5 เดือน เมื่อทดลองฉีดแล้ว มาดูผลว่าได้ผลแค่ไหน ส่วนการจำหน่ายในราคา 555 บาท ต่อ 50 ไมโครกรัม ไม่ได้เป็นการขายตัดราคาโรงพยาบาลเอกชน แต่เนื่องจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นหน่วยงานที่ไม่ได้แสวงหากำไร แต่โรงพยาบาลเอกชนต้องมีกระบวนการ ในเรื่องค่าใช้จ่าย ทั้งบุคลากร และอุปกรณ์ทางการแพทย์ จึงต้องมีการดำเนินการไปตามความเหมาะสม” ศ.นพ.นิธิ ระบุ.