เมื่อวันที่ 18 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานจาก สคบ. ว่า สืบเนื่องจากปัจจุบัน ผู้บริโภคมีการจับจ่ายซื้อสินค้าทางช่องทางออนไลน์โดยเรียกเก็บเงินปลายทางมากขึ้น เพราะสะดวกสบายแค่มีเพียงโทรศัพท์เครื่องเดียว ก็สามารถสั่งซื้อสินค้าได้ ทำให้เกิดช่องว่างให้กับผู้ประกอบธุรกิจบางรายหลอกลวงผู้บริโภค อาทิ เช่น ส่งสินค้าไม่ตรงปก ไม่ได้รับสินค้า สินค้าที่ได้รับมีความชำรุดบกพร่อง ไม่ได้สั่งซื้อสินค้าแต่มีสินค้าไปส่งแล้วเรียกเก็บเงิน สินค้าสูญหาย ไม่สามารถติดต่อผู้ขายได้ หากเก็บเงินปลายทาง เมื่อผู้บริโภคได้ชำระเงินให้กับผู้ส่งสินค้าแล้วเกิดปัญหาต้องการที่จะขอเงินคืน ปรากฏว่าผู้ให้บริการขนส่งสินค้า ได้นำเงินไปจ่ายให้กับผู้ขายสินค้าแล้ว และผู้บริโภคไม่สามารถติดต่อไปยังผู้ขายสินค้าได้ และไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยา
ในเรื่องดังกล่าว ทาง สคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนมาอย่างต่อเนื่อง จึงได้ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2567 หรือเรียกว่า มาตรการส่งดี (Dee – Devery) จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 ต.ค. 2567 เป็นการแก้ไขปัญหาผู้ขายสินค้าที่ไม่สุจริต หลอกลวงผู้บริโภค คุ้มครองผู้บริโภคที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมและเกิดความเสียหายจากการสั่งซื้อสินค้าและรับบริการขนส่งจากผู้ประกอบธุรกิจ รวมทั้งผู้บริโภคจะได้รับการชดเชยเยียวยาความเสียหายด้วยความรวดเร็วและเป็นธรรม ซึ่งจากประกาศฉบับนี้ เมื่อผู้บริโภคสั่งซื้อสินค้าแบบเก็บเงินปลายทาง พนักงานขนส่งจะต้องลงชื่อในหลักฐานการรับเงิน และส่งมอบให้กับผู้บริโภค หากเปิดกล่องสินค้าแล้ว สินค้าไม่ตรงปก ชำรุด ไม่ได้สั่ง สามารถปฏิเสธการรับสินค้าและไม่ต้องชำระเงินได้ หรือหากผู้บริโภคเปิดกล่องสินค้าภายหลังจากที่ชำระเงินไปแล้ว พบปัญหา สินค้าไม่ตรงปก ชำรุด ไม่ได้สั่ง ต้องแจ้งขอเงินคืน ภายใน 5 วัน (นับแต่วันได้รับสินค้า)
ทั้งนี้หากตรวจสอบแล้วพบว่า มีเหตุตามที่แจ้งจริง บริษัทขนส่งจะต้องคืนเงินทั้งหมดให้กับผู้บริโภค ภายใน 15 วัน ซึ่ง สคบ. ได้เปิดเวทีหารือร่วมกันกับผู้ประกอบการขนส่ง ทำให้เกิดแนวปฏิบัติที่ชัดเจน และผู้ประกอบการขนส่งยินดีร่วมมือและสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมกับ สคบ. เพื่อให้ประกาศฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับผู้ที่สนใจสอบถามได้ที่สายด่วน สคบ. 1166 หรือ เว็บไซต์ www.ocpb.go.th หรือ Fb สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค