ตามหนังสือที่อ้างถึงมติที่ประชุมคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 31 วันที่ 16 ธ.ค.63 เกี่ยวกับการพิจารณาแนวทางในการเชิดชูบุคคลในวงการมวยไทยให้เป็น “ศิลปินแห่งชาติ” และขอให้กระทรวงวัฒนธรรม พิจารณาดําเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของ คณะกรรมาธิการ ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น

กระทรวงวัฒนธรรม ได้ศึกษาข้อมูลแนวทางการดําเนินงาน ที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ และได้นําเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 19 ส.ค.64 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ดังนี้ 1 มอบหมายกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลวงการ มวยไทยตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พุทธศักราช 2553 มาตรา 28 (3) บุคคลที่มีผลงานดีเด่น ทางวัฒนธรรมและพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ.2554 มาตรา 4 (2) ในการยกย่องเป็นบุคคลที่มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม สาขากีฬา ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวและการละเล่น เช่น มวยไทย และ 2 มอบหมายกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลวงการมวยไทย ตามพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 และพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ.2542 หมวด 4 มาตรา 52 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม ถ้ามี) โดยปรับเพิ่มสวัสดิการและประโยชน์ตอบแทน จาก “กองทุนกีฬามวย” เช่นเดียวกับศิลปินแห่งชาติ โดยทําความตกลงกับกรมบัญชีกลาง

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ได้มีความพยายายามอย่างเต็มที่ ที่จะให้กระทรวงวัฒนธรรม ประกาศเชิดชูเกียรติคุณนักมวยไทย ในฐานะศิลปินแห่งชาติ เช่นเดียวกับ ศิลปิน นักแสดง และศิลปินสาขาอื่นๆ ที่เคยได้รับรางวัลนี้มาตลอดหลายสิบปี โดยคณะผู้ดำเนินการ นำโดย ดร.ศักดิ์ชาย ทัพสุวรรณ นายกสมาคมกีฬามวยไทยสมัครเล่นฯ ได้ทำหนังสือ เรื่อง ขอเข้าพบเพื่อรับคำแนะนำ 1 การจัดตั้งสถาบันมวยไทยแห่งชาติ 2 การขับเคลื่อนมวยไทยสู่โอลิมปิกส์ 2024 และ 3 การเชิดชูบุคคลในวงการมวยไทยให้เป็นศิลปินแห่งชาติ (สาขาศิลปะมวยไทย) กระทั่ง กระทรวงวัฒนธรรม ได้มีหนังสือแจ้งถึงการพิจารณาประกาศเชิดชูเกียรตินักมวยไทย เป็นศิลปินแห่งชาติ พร้อมส่งหนังสือแจ้งให้ประธานคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร รับทราบดังกล่าวแล้ว