ต้องเรียกว่า เป็นวิบากกรรมกับ “อุ๊งอิ๊งค์” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จริงๆ หลังจากเข้ามาบริหารประเทศได้ไม่ถึง 1 เดือน ก็ต้องเผชิญกับคำร้องเรียน แบบนับไม่ถ้วน โดยส่วนใหญ่มาจาก “ทีมงานบ้านป่า” นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะมาจากสาเหตุ การผลัก “พรรคพปชร.” ให้พ้นจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล รวมทั้งการเดินหน้าผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) รายมาตรา โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับเรื่องจริยธรรม อำนาจของศาล รธน. และองค์กรอิสระที่มีหน้าที่ปราบโกง อย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จึงกลายเป็นปมร้อน ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็เดินเกมคัดค้านอย่างเต็มที่ เพราะตั้งแต่นายกฯ คนที่ 31 เข้าทำหน้าที่หัวหน้ารัฐบาล ทั้งผู้นำพรรคเพื่อไทย (พท.) และต้นสังกัด ก็ถูกยื่นเรื่องให้ตรวจสอบเกิน 10 เรื่อง อย่างต้นสัปดาห์ผ่านมา ก็มีคำร้องปรากฏเป็นข่าว 3 เรื่อง
ไล่ตั้งแต่ที่สำนักงานกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เข้ายื่นหนังสือถึงประธาน กกต. เพื่อขอให้ตรวจสอบการลาออกจากกรรมการบริษัท 20 แห่ง ของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ เทียบเคียงกับการลาออกจากบริษัทของ น.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย โดยนายเรืองไกร ระบุว่า การลาออกจากกรรมการ และผู้ถือหุ้นของบริษัทท่าทรายหนองมะโมง จำกัด ของ น.ส.ซาบีดา นั้น มีการเขียนคำขอและเซ็นเอกสาร โดย น.ส.ซาบีดา และนายปภณ จบศรี ไปยื่นขอจดทะเบียน แบบ บอจ. 1 แต่ถ้าเทียบกับกรณี น.ส.แพทองธาร ไม่ได้เซ็นอะไรเลย ดังนั้นมีอะไร ถูกอะไรผิด ก็ต้องไปดูที่เว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
จึงมาร้องย้ำขอให้ กกต. ย้อนตรวจสอบกรณี น.ส.แพทองธาร ว่า การยื่นลาออกจากกรรมการนั้น จดทะเบียนประชุมกรรมการบริษัท เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และขั้นตอนที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุไว้หรือไม่ ถ้าไม่ถูกต้องก็ต้องเพิกถอน และถ้าเพิกถอน วันนี้ความเป็นกรรมการก็ยังอยู่ใช่หรือไม่ ถ้าความเป็นกรรมการยังอยู่ทั้ง 20 บริษัท ก็จะเข้าขายเป็นลูกจ้างตาม รธน. มาตรา 187 เพราะฉะนั้นอยู่ที่ กกต. จะรีบตรวจสอบหรือไม่
พร้อมทั้งย้ำว่า มายื่นร้องเรียนตามสิทธิใน รธน. มาตรา 41 และมาตรา 50 ไม่ได้ร้องเพราะปริมาณ ไม่ได้ร้องทุกวัน ไม่ได้ร้องเรื่องเล็กเรื่องน้อย จะผิดจะถูกอย่างไร เคารพความเห็นขององค์กรอิสระ ของ กกต. ป.ป.ช. และศาล จะไม่นำความเห็นของแต่ละคนที่ให้ร้องเรื่องนั้นเรื่องนี้ เพราะคนเหล่านั้นถ้าเห็นก็ไปร้องเองตามสิทธิ ไม่ได้รับจ้าง ไม่ใช่ลูกไล่ที่จะมาบอกให้ไปร้องเรียน ถ้าทำเท่ากับว่าขาดอิสระ รับจ้างร้อง ดังนั้นคนที่ชอบพูดให้สำเหนียกไว้ด้วยว่า ใช้สิทธิของตัวเอง ไม่ได้ไปละเมิดสิทธิของคนอื่น
ต้องรอดูคำร้อง “นายเรืองไกร” จะมีน้ำหนักมากหรือไม่ เพราะเกี่ยวข้องกับหัวหน้ารัฐบาลโดยตรง โดยเฉพาะปมประเด็นการลาออกจากธุรกิจต่างๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะก่อนหน้านี้ในสมัย “นายทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ เป็นผู้นำประเทศ ก็เคยถูกยื่นร้องเรื่องซุกหุ้นมาแล้ว ดังนั้นถ้าหากไม่อยากให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย คำชี้แจงหรือการแก้ข้อกล่าวต่างๆ ต้องทำด้วยความรอบคอบ เมื่อเทียบการถ่ายโอนธุรกิจของ “น.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์” รมช.มหาดไทย
ส่วนการเคลื่อนไหวในการยื่นแก้ไข รธน. ที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ซึ่งหลายฝ่ายออกมาคัดค้าน เพราะมองว่า เป็นการทำเพื่อตนเองนั้น นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในฐานะมือกฎหมายของรัฐบาล ระบุว่า ในช่วงบ่ายของวันที่ 1 ต.ค.นี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม จะมีการนัดพรรคร่วมรัฐบาลหารือ โดยจะหารือใน 2 ประเด็น คือ 1.เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติม รธน. รายมาตราที่พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชน (ปชน.) นำเสนอ พรรคร่วมรัฐบาลมีความคิดเห็นอย่างไร
2.จะหารือเรื่องที่ทำมาในอดีตจนถึงปัจจุบัน หรือความคืบหน้าในเรื่องจัดทำ รธน. ใหม่ ว่ามีปัญหาอย่างไรบ้าง เมื่อถามว่าข้อครหาการแก้ รธน. ในครั้งนี้ เป็นการเอื้อนักการเมือง จะผ่านวาระหนึ่งได้หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เราแก้ไขให้เป็นธรรมชัดเจนขึ้น ไม่ได้ยกเลิกเรื่องที่เขียนไว้ใน รธน.ปราบโกง เพียงแต่ต้องมีการกำหนดที่ชัดเจนว่า ต้องนับพฤติกรรมตั้งแต่เมื่อไร จะได้ไม่มีปัญหาในแง่การทำหน้าที่
อีกทั้งยังกล่าวว่า เรื่องนี้กลายเป็นปัญหาสำหรับการบริหารราชการแผ่นดิน ขอย้ำเราไม่ได้อยากยกเลิกอะไร เพียงแต่ทำกฎหมายให้ชัดเจน เห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ จึงเลือกเฉพาะประเด็นที่คิดว่ามีความสำคัญที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการบริหารจัดการแผ่นดิน เช่น หากมีเรื่องคุณสมบัติรัฐมนตรี ก็จะต้องไปร้องกันอีก นี่ยังไม่ทันไร ก็มีคนไปร้องแล้ว ก็ยกเรื่องจริยธรรม เมื่อถามว่าได้มีการคุยกับสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เพื่อสนับสนุนแล้วหรือยัง นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ได้พูดคุยกัน เพราะ สว. ก็เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของรัฐสภา ต้องเห็นชอบด้วย ไม่อย่างนั้นก็ไปไม่ได้เหมือนกัน
ขณะที่บรรดานักร้องที่ไม่เห็นด้วยก็เริ่มทำงาน ไล่ตั้งแต่ “นายสนธิญา สวัสดี” อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมายการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนสภาฯ เข้ายื่นหนังสือถึง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เพื่อขอให้ไม่รับร่างแก้ไข รธน. ของพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชน หรือพรรคการเมืองอื่น เนื่องจากมองว่าเป็นการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ตาม รธน. มาตรา 114 และไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลควรทำ หากมีการดำเนินการดังกล่าวในกลไกของรัฐสภา เตรียมพิจารณายื่นเรื่องร้องเรียนประเด็นจริยธรรมต่อ ป.ป.ช. หรือในทุกหน่วยงานที่ทำได้ ดังนั้นขอให้สภาฯ แก้ปัญหาให้ประชาชน ส่วน รธน. ว่ากันภายหลัง อีกทั้งมองว่าคนดีชั่วไม่ได้อยู่ที่กฎหมาย หรือ รธน. แต่อยู่ที่บุคคลว่าจะทำงานให้ประชาชนได้มากน้อยหรือไม่
ส่วนที่สำนักงาน ป.ป.ช. “นายศรีสุวรรณ จรรยา” ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ได้เดินทางมายื่นคำร้องเพื่อขอให้ ป.ป.ช. ไต่สวนและวินิจฉัยกรณี สส. หรือพรรคการเมือง ได้ยื่นแก้ รธน. รายมาตรา โดยมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอำนาจ ป.ป.ช. และอำนาจศาล รธน. ในการตรวจสอบจริยธรรมนักการเมือง ฯลฯ เป็นการขัดกันแห่งผลกระโยชน์ ตาม รธน. ม.185 หรือไม่
ที่บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ใช้สถานะหรือตําแหน่ง การเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภากระทําการใดๆ อันมีลักษณะที่เป็นการก้าวก่าย หรือแทรกแซง (หน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ) เพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม”
ด้วยเหตุดังกล่าว องค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน จึงต้องนำความไปยื่นร้องต่อ ป.ป.ช. เพื่อให้ดำเนินการไต่สวนและมีความเห็นเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ตามอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 ซึ่งหาก ป.ป.ช. วินิจฉัยว่าเข้าข่าย ก็อาจต้องส่งเรื่องไปยังศาลฎีกา เพื่อดำเนินการเอาผิดนักการเมืองต่างๆ ที่ลงชื่อในร่างแก้ไข รธน. รายมาตราต่อไป ซึ่งเราเคยเห็นผลงานของ ป.ป.ช. เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมาหลายกรณีแล้ว และเนื่องจากพรรคการเมือง/นักการเมืองกำลังจะเข้ามาก้าวก่ายอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. โดยตรงอีกด้วย จำจะต้องสั่งสอนนักการเมือง ให้จำเป็นบทเรียนเสียบ้าง
นั่นหมายความว่า การแก้ไขกฎหมายแม่บทในการปกครองประเทศ คงไม่ได้ทำง่ายๆ ยิ่งถ้าเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของตนเอง ต้องการลดอำนาจศาล รธน. และองค์กรอิสระ ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ เมื่อมีปัญหาอย่างนี้แล้ว นอกจากพรรคเพื่อไทยและพรรคประชชน ต้องรอดูจะมีพรรคการเมืองไหน กล้าเดินหน้าในการร่วมแก้ไขหรือไม่
ส่วนการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ที่เพิ่งผ่านไป คือ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปทุมธานี ก็ยังมีควันหลงตามมา หลัง อบจ.ปทุมธานี ประกาศผลการนับคะแนนเลือกตั้ง (อย่างไม่เป็นทางการ) นายก อบจ.ปทุมธานี รอบใหม่ ซึ่งจัดให้มีการเลือกตั้งไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยผู้สมัครยังคงเป็นชุดเดิม 4 คน ประกอบด้วย หมายเลข 1 นายชาญ พวงเพ็ชร์, หมายเลข 2 นายอธิวัฒน์ สอนเนย, หมายเลข 3 พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง และหมายเลข 4 นายนพดล ลัดดาแย้ม ซึ่งผลการนับคะแนน (อย่างไม่เป็นทางการ) แบบเรียงลำดับตามผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด อันดับ 1 พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง เบอร์ 3 ได้ไป 187,975 คะแนน อันดับ 2 นายชาญ พวงเพ็ชร์ เบอร์ 1 ได้ไป 120,007 คะแนน อันดับ 3 นายนพดล ลัดดาแย้ม เบอร์ 4 ได้ไป 9,736 คะแนนและอันดับ 4 นายอธิวัฒน์ สอนเนย เบอร์ 2 ได้ไป 7,675 คะแนน
ส่วน “นายชาญ” ที่ตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ หลังในการเลือกตั้งครั้งแรกคว้าชัยชนะ ได้ออกมาตอบคำถามกรณีถูกตั้งข้อสังเกต พรรคเพื่อไทยไม่ให้การสนับสนุน เพราะก่อนหน้านั้นพรรคแกนนำรัฐบาลแสดงตัวในการสนับสนุนเต็มที่ นอกจากนี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ในขณะที่ยังเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก็ลงพื้นที่ช่วยหาเสียงให้ในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งแรก
โดย “นายชาญ” กล่าวว่า มี สส. 1 คนมา เพราะปทุมธานีมี สส.เพื่อไทยได้มา 1 คนก็มา แต่คราวนี้การสมัครของเราๆ ไม่ได้ทำในนามพรรค เราทำในนามกลุ่มคนรักปทุมธานี เพราะเราได้ใบเหลือง เราก็เลยไม่อยากให้พรรค และผู้ใหญ่ในพรรคลำบากใจ เราเกรงใจ ทั้งอดีตนายกฯ และนายกฯ คนปัจจุบันด้วย แต่ยืนยันว่าเรายังทำงานให้พรรคเพื่อไทยเหมือนเดิม กลุ่มปทุมรัก กลุ่มปทุมไม่ทิ้งกัน
แต่ดูเหมือนเรื่องไม่จบ เมื่อ “นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล” อดีตแกนนำพิราบขาว 2006 เข้ายื่นคำร้องต่อ กกต. ขอให้พิจารณาว่าพรรคเพื่อทไยเข้าข่ายความผิดต้องยุบพรรคตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคตามมาตรา 92 (4) พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 หรือไม่ จากกรณีส่ง “นายชาญ พวงเพ็ชร์” ลงสมัครชิงนายก อบจ.ปทุมธานี ในรอบแรกทั้งที่ถูกกล่าวหา เรื่องเกี่ยวกับทุจริต โดย ป.ป.ช. มีชี้มูลความผิด และศาลอาญาทุจริตรับฟ้อง จนมีผลให้ นายชาญ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ จนพ้นหน้าที่ด้วยการหมดวาระเข้าข่าย หรือส่อผิด พ.ร.บ.เลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหาร พ.ศ.2562 มาตรา49(8) หรือไม่ และพรรคเพื่อทไ ส่อเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 21 วรรคแรก หรือไม่ จากเหตุที่กฎหมายกำหนดให้พรรค และกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ต้องมีความรอบคอบในการคัดเลือกบุคคลตัวแทนพรรคในการลงรับสมัครนายก อบจ.ปทุมธานี จึงขอให้ กกต. พิจารณาว่าเข้าข่ายยุบพรรคตัดสิทธิ กก.บห. หรือไม่ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองหมวด 8 ความสิ้นสุดของพรรคการเมือง ม.92(4) หรือไม่
เท่ากับว่า “น.ส.แพทองธาร” และ “พรรคเพื่อไทย” ตกอยู่ในวงล้อมการถูกร้องตรวจสอบในข้อกฎหมาย และ รธน. ซึ่งบางคนอาจจะเรียกว่า “นิติสงคราม” ซึ่งทุกความเคลื่อนไหว ทุกย่างก้าวจะพลาดมาไม่ได้เลย ถือเป็นการบ้านข้อใหญ่ ที่ผู้คุมอำนาจรัฐจะพลาดไม่ได้เลย เพราะอาจหมายถึงสูญเสียอำนาจรัฐ ที่ห่างหายไปนานกว่า 9 ปี.
“ทีมข่าวการเมือง”