เมื่อวันที่ 19 ต.ค. นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา ผอ.สำนักส่งเสริมสุขภาพและโฆษกกรมอนามัย กล่าวในการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด ว่า ทั่วโลกมีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อประมาณ 50-60% จากภาวะปกติ ส่วนหนึ่งเสียชีวิตจากโควิด แต่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งในหลายประเทศ กรณีในยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา พบ 1 ใน 4 หรือ 20-25% ส่วนในประเทศไทยข้อมูลตั้งแต่ ต.ค. 2563-ก.ย. 2564 ซึ่ง 1 ปีที่มีการระบาดของโควิดมีหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิตทั้งหมด 192 ราย ในจำนวนนี้พบว่าเสียชีวิตจากโควิด 78 ราย คิดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน คิดเป็น 38%

ส่วนช่วง 6 เดือนหลัง ในช่วงเดือน เม.ย. 2564-ก.ย. 2564 พบหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ 4,778 ราย ทารกติดเชื้อฯ 226 ราย ในจำนวนนี้มารดาเสียชีวิต 95 ราย และลูกเสียชีวิตตามแม่ 46 ราย ส่วนใหญ่ติดเชื้อใน กทม. ปริมณฑล และ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ส่วนการฉีดวัคซีนเพิ่งมีการรณรงค์ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ตั้งเป้าฉีดประมาณ 3 แสนคน ขณะนี้ฉีดเข็มแรก 7.5 หมื่นคน เข็ม 2 ประมาณ 5.9 หมื่นคน และส่วนหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ สธ. ที่ได้รับซิโนแวค 2 เข็ม และฉีดกระตุ้นด้วยแอสตราเซเนกา หรือไฟเซอร์ เป็นเข็ม 3 ประมาณ 500 คน ทั้งนี้อัตราการฉีดวัคซีนในหญิงตั้งครรภ์ยังถือว่าน้อยเพียง 25% หรือ 1 ใน 4 ซึ่ง สำนักอนามัยโพล สำรวจความเห็นหญิงตั้งครรภ์ 1,165 คน พบครึ่งหนึ่งยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ในจำนวนนี้มี 60% ตั้งใจฉีด ที่เหลือยังลังเล โดย 1 ใน 3 กังวลเรื่องความปลอดภัย ผลข้างเคียงของวัคซีน อีก 1 ใน 3 ไม่มั่นใจประสิทธิภาพ ที่เหลือยังเข้าไม่ถึง ไม่รู้ว่าฉีดที่ไหน ไม่มีเวลาไปฉีดวัคซีน บางส่วนรอฉีดวัคซีนที่ตัวเองต้องการไปเรื่อยๆ ยังไม่มั่นใจสูตรไขว้ ทั้งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยันยันว่าปลอดภัย ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ไม่ต่างจากกลุ่มอื่น

“ในจำนวนที่ติดเชื้อกว่า 4.7 พันรายนั้น พบว่า 95% ไม่ได้ฉีดวัคซีน และในจำนวนที่เสียชีวิต 95 ราย เกือบทั้งหมดก็ไม่ได้ฉีดวัคซีนเช่นกัน ซึ่งคนที่ไม่ได้รับวัคซีนจะเสียงติดเชื้อมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ ดังนั้น ต้องรณรงค์ให้มารับวัคซีนมากขึ้น เพราะผลสำรวจยังพบว่ากว่า 60% ยังต้องออกไปทำงานนอกบ้าน แต่ยังอุ่นใจว่ายังสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อไปที่สาธารณะ 97.8% เว้นระยะห่าง 84.3% ล้างมือ 84.2% ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น 80% ส่วนที่น่ากังวลคือสตรีมีครรภ์เกิน 70% ติดเชื้อกันในบ้าน ถ้ายังไม่ได้ฉีดวัคซีนต้องป้องกันตัวเองสูงสุด หากเป็นไปได้ควรสวมหน้ากาก ไม่ควรรับประทานอาหารร่วมกัน เราพบการทำความสะอาดภายในบ้านยังได้น้อย การแยกของใช้ทำได้น้อย” นพ.เอกชัย กล่าว  

นพ.เอกชัย กล่าวว่า เขตที่ฉีดสูงพื้นที่ภาคตะวันออก ชลบุรี ระยอง แถวนี้ฉีดได้ประมาณ 40% และบางเขตภาคกลาง ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ฉีดได้ประมาณ 34% ภาคอีสานมีหญิงตั้งครรภ์เยอะ แต่ฉีดวัคซีนน้อย เขต 7, 8, 9 และ 10 ยังฉีดวัคซีนได้เพียงระดับ 10-20% เท่านั้น ดังนั้นขอให้สตรีมีครรภ์ที่เหลือ 2 แสนกว่ารายใ ห้รับวัคซีนในสถานการณ์ที่ยังประมาทไม่ได้ รวมถึงหญิงให้นมบุตรสามารถรับวัคซีนได้ ไม่มีผลต่อน้ำนม.