เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ที่มหาวิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก ถนนสรรพาวุธ แขวงและเขตบางนา นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค ได้กล่าวในโครงการสัมมนา เรื่อง “มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคจากสินค้าออนไลน์ที่ไม่ได้มาตรฐาน” ที่ทางกรรมาธิการฯจัดร่วมกับมหาวิทยาลัยเซาธ์อีสท์ บางกอก ว่าในช่วงที่ผ่านมากระแสนิยมการซื้อสินค้าและบริการทางออนไลน์มีเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีประชาชนจำนวนไม่น้อยประสบปัญหากับการโดนหลอกให้เสียเงินกับสินค้าไม่ตรงปก สินค้าไม่ได้มาตรฐาน หรือแม้กระทั่งสินค้าเก็บเงินปลายทางที่ไม่ได้สั่ง แต่ต้องจ่ายเงินเพื่อรับมาเปิดดูก่อน โดยมีคดีในลักษณะเหล่านี้มากถึง 46.50% ของคดีทางออนไลน์ สะสมตั้งแต่ 1 มี.ค. 65 ถึง 31 ส.ค. 67 คิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว 4,000 ล้านบาท
ทางสำนักงานควบคุมผู้บริโภคภายใต้การกำกับดูแลของ จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จึงได้ออกมาตราการ “ส่งดี” (dee-delivery) ที่จะช่วยทำให้ผู้บริโภคที่ชอบซื้อสินค้าทางออนไลน์และเก็บเงินปลายทาง ได้รับการคุ้มครองและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น สามารถเปิดพัสดุเช็คของได้ก่อนจ่ายเงิน และมีกลไกหน่วงเงินไว้ที่บริษัทขนส่งสินค้า ให้ผู้ซื้อสามารถขอเงินคืนได้ภายใน 5 วัน ซึ่งมาตรการนี้ได้มีการหารือทำความเข้าใจทั้งกับผู้ให้บริการแพลทฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์และขนส่งแล้ว และจะมีผลบังคับใช้เป็นการทั่วไปตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค. 67 นี้
ทั้งนี้ นางสาวขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษากลั่นกรองเรื่องร้องเรียนและสภาพปัญหาการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้ร่วมเสวนาในงานฯ กล่าว ถึงประเด็นปัญหาของประชาชนที่มีข้อร้องเรียนต่อ กรรมาธิการฯ จำนวนมากส่วนใหญ่จะเป็นการไม่ได้สั่งซื้อสินค้าแต่มีพัสดุจัดส่งไปยังบ้านพัก และถูกเรียกเก็บเงินปลายทาง หรือจะเป็นการที่ผู้บริโภคสั่งซื้อสินค้าแล้วประสบปัญหาสินค้าไม่ได้คุณภาพ และไม่สามารถติดต่อผู้ขายได้ ซึ่งที่กล่าวล้วนเป็นปัญหาที่ทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย และปัญหานี้ก็เป็นปัญหาสะสมอย่างยาวนานไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ สะท้อนถึงความจำเป็นที่ต้องมีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเข้มงวดมากขึ้น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งดำเนินการแก้ไขเพื่อปกป้องสิทธิและความปลอดภัยของผู้บริโภคในยุคดิจิทัลที่ประชาชนใช้แพลตฟอร์มต่างๆ เข้าถึงการซื้อขายได้อย่างง่ายได้
“ปัญหาการหลอกลวงทางออนไลน์ เป็นปัญหาเรื้อรังที่รัฐบาลเพื่อไทยกำลังเร่งสะสาง มาตรการส่งดีนี้ จะเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ช่วยให้ความปลอดภัยทางทรัพย์สินกับพี่น้องประชาชน และช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อการทำธุรกิจในประเทศได้ ผ่านการสร้างความร่วมมือกับเอกชนที่เกี่ยวข้อง และประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รับรู้ต่อสังคมในวงกว้างเพิ่มขึ้น” นายชนินทร์กล่าว