ยังไม่จบกันง่ายๆ กับเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราอลเวง จากที่วันที่ 24 ก.ย. พรรคภูมิใจไทยมีมติไม่แก้ไขรายมาตรา ให้รอยกร่างทั้งฉบับทีเดียว ต่อมา พรรคเพื่อไทยก็ไม่เอาแก้ไขรายมาตราด้วย และระบุว่า “การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นข้อเสนอของพรรคร่วมรัฐบาลอื่น”

เมื่อวันที่ 25 ก.ย. นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ในการประชุม สส.วันที่ 24 ก.ย. พูดกันว่า การแก้ไขจริยธรรมเป็นเรื่องที่เปราะบางอ่อนไหว พรรคต้องรับฟังความเห็นของประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาล จึงคิดว่าหลังจากนี้พรรคเพื่อไทยจะถอยการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มองว่าไม่ได้เป็นมาตรการเร่งด่วน มาดำเนินการตามนโยบายเศรษฐกิจที่เร่งด่วน เช่น การแก้ไขเรื่องน้ำท่วม เรื่องปากท้อง และเรื่องยาเสพติดในชุมชน

“ผมเห็นว่า หากจะเข้ามารับตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ต้องมีการตรวจสอบ เพราะการเมืองต้องการคนที่ไม่มีภาระและสิ่งที่ขัดต่อคุณสมบัติ แต่ควรชะลอเรื่องนี้ไว้ก่อนและรอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หลังจากนี้จะต้องมีการทำประชามติให้ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับหรือไม่ หากแก้ไขเป็นบางมาตราจะเสียเงินงบประมาณมากขึ้นโดยที่ไม่จำเป็น”

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ปฏิเสธว่า ตัวเองไม่ใช่ “ผู้ใหญ่ในพรรคร่วมรัฐบาล” ที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดจริยธรรม พรรคภูมิใจไทยไม่เคยกลับลำ การทำงานก็ต้องมีการหารือกัน เมื่อวันที่ 24 ก.ย. มีการหารือกันจนเห็นทิศทางแล้วว่าเรื่องรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องสำคัญเร่งด่วน เราไม่ได้เจอกระแสสังคมกดดัน แต่รัฐบาลเพิ่งเข้ามาทำงานเพียง 2 สัปดาห์ ทุกวันนี้ก็มุ่งหน้าแก้ปัญหาน้ำท่วมเป็นหลัก และแจกเงิน 10,000 บาท

ขณะที่เว็บไซต์ของรัฐสภา ได้เผยแพร่รายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ. … (แก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานจริยธรรม) ซึ่งเป็นฉบับที่ สส.ของพรรคประชาชน (ปชน.) ยื่นเสนอ เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 67 มีเนื้อหาแก้ไขเพิ่มเติมประเด็นสำคัญเรื่อง คุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานจริยธรรม การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และกระบวนการร้องเรียนกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สิ่งที่แก้ไขเพิ่มเติม อาทิ แก้ไขมาตรา 160 ว่าด้วยคุณสมบัติของรัฐมนตรี โดยตัด (4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และ (5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงออกไป

แก้ไขมาตรา 219 ว่าด้วยบทบัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกำหนดมาตรฐานจริยธรรมใช้บังคับ ที่ครอบคลุมให้ใช้กับ สส. สว. และครม. ได้แก้ไขให้เป็น “ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างมีอำนาจกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมที่ใช้บังคับกับผู้ดำรงตำแหน่งและหัวหน้างานหน่วยธุรการขององค์กรตนเอง”

อนึ่ง การที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรค ปชน. ให้ศาลและองค์กรอิสระกำหนดมาตรฐานจริยธรรม “ของตนเอง” เพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 219 วรรคสอง บัญญัติให้ประมวลจริยธรรมของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระบังคับใช้กับ สส., สว., คณะรัฐมนตรีด้วย ซึ่ง “มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ” ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2561 ขณะนั้นเป็นช่วงรัฐบาล คสช. ไม่มีการรับฟังความเห็นจาก 2 สภา

6.แก้ไขมาตรา 234 ว่าด้วยหน้าที่และอำนาจของ ป.ป.ช. โดยตัดถ้อยคำใน (1) ที่กำหนดให้ ป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวนและมีความเห็นกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงออก 7.แก้ไข มาตรา 235 ว่าด้วยการตรวจสอบ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดขั้นตอนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ โดยได้ตัด (1) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย

แก้ไขในส่วนของบทกำหนดโทษ ที่ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้ที่ถูกพิพากษา จากเดิมที่กำหนดเวลา 10 ปี เป็น 5 ปี และตัดการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งออก ให้โทษเหลือเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 5 ปี เท่านั้น ในส่วนร่างของพรรค ปชน. ก็รอประธานสภานัดวันพิจารณา

การจะยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องทำประชามติ 3 ครั้ง คือ 1. สอบถามประชาชนว่าต้องการรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ 2. เห็นชอบหรือเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 3. เห็นชอบรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งในเรื่องกฎหมายประชามติ สภาผู้แทนราษฎรได้แก้ไขให้ใช้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงเพียงชั้นเดียว ตัดเงื่อนไขจำนวนผู้มาใช้สิทธิ

กลับมีปัญหาในชั้น สว.โดย น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. รองโฆษก กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่…) ที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบแล้ว กล่าวว่า กมธ. กลับมติไปสนับสนุนการใช้เสียงข้างมากสองชั้น คือ ต้องมีเสียงกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิมาเลือกตั้งต้องออกมาใช้สิทธิ และผลประชามติต้องเป็นเสียงข้างมาก การทบทวนมติ เสียงเกือบเอกฉันท์ คือ 17 ต่อ 1 ยกเว้นตนเองที่อยากให้คงเสียงข้างมากชั้นเดียวไว้

เมื่อถามว่า จะเป็นเกมเพื่อทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเกิดขึ้นไม่ทันสภาชุดนี้หรือไม่ น.ส.นันทนา กล่าวว่า น่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะทำให้กระบวนการยืดเยื้อออกไป เนื่องจากหาก สว.ไม่เห็นชอบกับร่างของ สส. จะต้องตั้ง กมธ.ร่วม ซึ่งจะไม่ทันลงคะแนนพ่วงการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ต้องยืดเวลาประชามติออกไป ความเป็นจริงในการที่จะยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับแทบมองไม่เห็นเลย หากตั้ง กมธ.ร่วมเพื่อถกเถียงหาข้อสรุปกันใหม่ ว่าจะมีมติเป็นอย่างไรในการแก้ พ.ร.บ.ประชามตินี้ คาดว่าน่าจะใช้เวลามากกว่า 60 วัน ในการตั้ง กมธ.ร่วม

“สว.เสียงข้างมากน่าจะลงมติไปตามที่ กมธ.ปรับแก้ คือเสียงข้างมากชั้นเดียว ก่อนหน้านี้ทุกพรรคการเมืองอยากให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่หาก สว.จำนวนมาก ลงมติอย่างพร้อมเพรียงกันในลักษณะนั้น จึงเชื่อว่า เป็นทิศทางของพรรคการเมืองหนึ่งที่ไม่อยากให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ภายในสมัยสภาชุดนี้” น.ส.นันทนา ตั้งข้อสังเกต ซึ่งเมื่อ สว.กลุ่มใหญ่ถูกมองว่ามีความเกี่ยวพันกับพรรคภูมิใจไทย ทำให้พรรคนี้จะถูกจับตาบทบาทในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอย่างมาก ว่า จะเป็นตัวแปรสำคัญในการทำประชามติรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่

กรณี นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย จี้ให้ประธานสภาตรวจสอบ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ไม่เข้าร่วมประชุมสภา เบื้องต้น ทางสภายืนยันว่า พล.อ.ประวิตรมีใบลา แต่นายพร้อมพงศ์ก็ยังเดินหน้าสอบ โดยเข้ายื่นหนังสือพร้อมหลักฐานให้ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อสอบจริยธรรมบิ๊กป้อม กรณีไม่มาประชุมสภา

นายพร้อมพงศ์ เปิดหลักฐานที่ได้จากสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค. 66 จนถึงปัจจุบัน พล.อ.ประวิตร ลงชื่อมาประชุมโดยใช้บัตรลงทะเบียน 11 ครั้ง ลาป่วย 1 ครั้ง ลากิจ 83 ครั้ง รวม 84 ครั้ง จากวันประชุมรวม 95 ครั้ง คิดเป็น 88.42% ที่สำคัญมีอยู่หนึ่งสมัยประชุม พล.อ.ประวิตร ลาทั้งสมัยประชุมครบ 100% โดยอ้างเหตุผลติดภารกิจ การลาแบบนี้น่าจะถือเป็นการลาที่น่าจะมีเจตนาพิเศษ น่าจะเป็นการจงใจขาดประชุมโดยใช้การลาเป็นฉากบังหน้า

เป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ว่า สส.จะขาดประชุมได้ไม่เกิน 1 ใน 4 ของจำนวนวันประชุมในสมัยประชุม และข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของ สส.ที่ระบุว่า สส.ต้องอุทิศเวลาให้กับการประชุม ยังพบข้อมูลว่าในวันที่ พล.อ.ประวิตร แจ้งลาติดภารกิจ ไม่เข้าประชุมสภา บางวันก็ไปนั่งเชียร์วอลเลย์บอลผ่านออนไลน์ เปิดบ้านป่ารอยต่อให้คนไปอวยพรวันเกิด เช่นนี้เขาเรียกว่าเหตุสุดวิสัยหรือไม่

วันลงชื่อประชุมยิ่งน่าสงสัย จากการตรวจสอบกับเพื่อน สส.หลายคน รวมถึงคนระดับประธานวิปรัฐบาล พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เคยเห็น พล.อ.ประวิตร มาอยู่ในห้องประชุม มีข้อมูลว่ามีคนนำสมุดลงชื่อไปให้ พล.อ.ประวิตร เซ็นที่รถ ซึ่งในการลงชื่อนอกจากเซ็นชื่อแล้วต้องเอาบัตรไปแตะเครื่องยืนยันตัวตน จึงสงสัยว่าน่าจะมีการเอาบัตรไปแตะแทนกันหรือไม่ เรื่องนี้เทียบเคียงกับกรณีที่กดบัตรแทนกัน มีอดีต สส.ถูกดำเนินคดีและติดคุกไปแล้ว จะไปยื่นเรื่องขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบศุกร์นี้ ถ้าลาประชุมแบบนี้ขอให้ลาออกไป เพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติสง่างาม

ปิดท้ายกันด้วยความคืบหน้าการบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทยมอบหมายให้กรมการปกครอง โดยสำนักบริหารการทะเบียนให้เตรียมการส่วนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทยให้มีความพร้อมต่อคู่สมรสที่ประสงค์จะจดทะเบียน เบื้องต้นจะดำเนินการซักซ้อมทดลองระบบก่อนในช่วงเดือน ธ.ค. 67 และสามารถปฏิบัติงานจริงตามที่กฎหมายกำหนดตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค. 68

กรมการปกครองนับวันตามแนวคำพิพากษาซึ่งมีการนับหนึ่งในวันรุ่งขึ้นจากวันที่ประกาศราชกิจจานุเบกษา กฎหมายครบ 120 วัน ในวันที่ 22 ม.ค. 68 ดังนั้นจึงจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 23 ม.ค. 68 เป็นต้นไป.

“ทีมข่าวการเมือง”