เมื่อวันที่ 26 ก.ย. ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน แถลงจุดยืนของพรรคในการเดินหน้าจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คู่ขนานกับยื่นร่างแก้ไขเป็นรายมาตรา ว่า พรรคประชาชนยืนยันมาตลอดว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 มีปัญหาเรื่องความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ทั้งที่มา กระบวนการ และเนื้อหา ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเดินหน้า 2 เส้นทางแบบคู่ขนาน นั่นคือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด โดย ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด กับอีกเส้นทางคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในประเด็นที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วน
นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า แต่เนื่องจากการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องอาศัยเวลา 1-2 ปีขึ้นไป และมีความเสี่ยงว่าจะไม่ทันบังคับใช้ก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป เราจึงจำเป็นต้องเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เพื่อทำให้บางปัญหาทางการเมืองได้รับการแก้ไขไปพลางก่อน ในช่วงเปลี่ยนผ่านก่อนจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเพื่อทำให้การเมืองมีเสถียรภาพและมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศและความเป็นอยู่ของประชาชน
นายพริษฐ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาพรรคประชาชน ได้นำเสนอแนวคิดและประเด็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรามาโดยตลอด โดยแบ่งชุดประเด็นออกเป็น 7 แพ็กเกจ ได้แก่ แพ็กเกจที่ 1 “ลบล้างผลพวงรัฐประหาร” แพ็กเกจที่ 2 “ตีกรอบอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ” แพ็กเกจที่ 3 “เพิ่มกลไกตรวจสอบการทุจริต” แพ็กเกจที่ 4 “คุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน” แพ็กเกจที่ 5 “ปฏิรูปกองทัพ” แพ็กเกจที่ 6 “ยกระดับประสิทธิภาพรัฐสภา” และแพ็กเกจที่ 7 “ปรับเกณฑ์เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ”
นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า พรรคประชาชน นำเสนอเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเป็นระบบ และได้มีการเตรียมการไว้เป็น 7 ชุดประเด็นดังที่กล่าวไปข้างต้น ทั้งนี้ พรรคประชาชนเข้าใจดีว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายประเด็น เช่น ระบบเลือกตั้ง ระบบรัฐสภา หรือมาตรฐานทางจริยธรรม ย่อมส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของนักการเมือง ดังนั้น ในฐานะนักการเมือง พรรคประชาชนยืนยันว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในทุกประเด็น ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงหลักการออกแบบระบบการเมืองในภาพรวมที่เป็นประโยชน์กับประชาชนและประเทศ
นายพริษฐ์ กล่าวว่า พรรคประชาชนยืนยันว่า การแก้ไขเรื่องมาตรฐานจริยธรรมไม่ได้เป็นการแก้เพื่อตัวเองหรือเป็นปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง แต่เป็นไปเพื่อยุติการผูกขาดอำนาจเรื่องมาตรฐานจริยธรรมไว้กับศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ซึ่งมีความเสี่ยงจะทำให้มาตรฐานจริยธรรมถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งกันทางการเมือง กระทบต่อทั้งเสถียรภาพและความชอบธรรมทางประชาธิปไตยของระบบการเมือง และส่งผลโดยตรงต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
นายพริษฐ์ กล่าวว่า ถึงแม้เรื่องมาตรฐานจริยธรรมจะเป็นประเด็นที่หลายพรรคเคยยอมรับว่าเป็นปัญหา รวมถึงเคยมีการแสดงความเห็นต่อสาธารณะ แต่ในวันนี้เป็นที่ชัดเจนแล้ว ว่าทุกพรรคตัดสินใจว่าจะยังไม่เดินหน้าหาทางออกต่อปัญหาดังกล่าว ณ เวลานี้ ดังนั้น พรรคประชาชนยังมีความจำเป็นต้องอธิบายและยืนยันต่อสังคมว่าทำไมจึงควรจะยุติการผูกขาดอำนาจเรื่องมาตรฐานจริยธรรมไว้กับศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ แต่ในอีกมุมหนึ่ง เราไม่อยากให้ร่างดังกล่าวกลายเป็นเงื่อนไขหรือข้ออ้างที่ทำให้พรรคการเมืองอื่น ไม่เดินหน้าพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราฉบับอื่นๆ
นายพริษฐ์ กล่าวว่า หากพรรคร่วมรัฐบาลยืนยันดังกล่าว เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราได้เดินหน้าต่อ พรรคประชาชนพร้อมจะพักการผลักดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องมาตรฐานจริยธรรมไว้ก่อน จนกว่าจะสามารถทำงานเชิงความคิดกับพรรคร่วมรัฐบาลและสังคมได้มากกว่าที่เป็นอยู่ แต่พรรคประชาชนยืนยันจะเดินหน้าเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราอีก 6 แพ็กเกจ โดยหวังว่าพรรคการเมืองจะไม่ได้มองเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราจำกัดอยู่แค่ประเด็นเรื่องมาตรฐานจริยธรรม และจะเห็นตรงกับเราในการเปิดประชุมรัฐสภา เพื่อเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราคู่ขนานกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
“ยิ่งในวันนี้ ที่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความเสี่ยงจะเสร็จไม่ทันการเลือกตั้งครั้งถัดไป พรรคการเมืองยิ่งควรจะเห็นความจำเป็นในการร่วมมือกันเดินหน้าแก้ไขรายมาตราที่เป็นประโยชน์กับประชาชนโดยเร็ว เพื่อให้เรามีรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในช่วงเปลี่ยนผ่าน จากวันนี้จนถึงวันเลือกตั้ง ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยมากขึ้น และทำให้ระบบการเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น” นายพริษฐ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ร่างแก้ไขเหล่านี้จะถูกมองว่าสุดโต่งหรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า ยืนยันว่าแพ็กเกจเหล่านี้ ไม่มีเรื่องใดสุดโต่ง และเรื่องมาตรฐานจริยธรรม เป็นเรื่องใหม่ในรัฐธรรนมนูญฉบับนี้
เมื่อถามว่า มองว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของรัฐบาล มีความล่าช้าหรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า ตนอยากให้รัฐบาลชี้แจงโรดแม็พให้ชัด ว่าการจัดทำประชามติ 3 ครั้ง วางกรอบเวลาไว้อย่างไร โดยตนพยายามคำนวณจากสิ่งที่ได้รับฟังจากรัฐบาลให้ใกล้เคียงที่สุด มองว่าถึงแม้หากทําตามกรอบเวลาอย่างรวดเร็วที่สุด ก็มีความสุ่มเสี่ยงที่จะไม่ทันการเลือกตั้งในปี 70 และหากมีตัวแปรอย่างอื่นเข้ามา เช่น การหาข้อสรุปของประชามติไม่ได้ จนไม่สามารถทำประชามติได้ทันตามที่วางแผนไว้ ก็ต้องเลื่อนกรอบเวลาออกไปอีก เพราะฉะนั้น มีความจำเป็นที่ต้องมาคุยถึงการเดินคู่ขนาน คือการแก้ไขรายมาตรา และยืนยันว่าปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการแก้ไขปัญหาปากท้องเศรษฐกิจ มีความคาบเกี่ยวกัน เพราะการมีระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพ ก็มีความสำคัญเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเวลานี้ ไม่ได้ทำให้เราไปแก้ไขปัญหาอย่างอื่นไม่ได้
เมื่อถามว่า หากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ร่างไม่ทันภายในรัฐบาลชุดนี้ จะส่งผลอย่างไร เพราะรัฐบาลเคยบอกว่าเป็นนโยบายเร่งด่วน นายพริษฐ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าต้องให้ประชาชนตัดสินผ่านคูหาเลือกตั้ง เป็นเรื่องปกติ เมื่อรัฐบาลประกาศนโยบายอะไรไว้ ก็ถือเป็นสัญาประชาคมกับประชาชน หากรัฐบาลไม่สามารถรักษาสัญญา ประชาชนก็สามารถลงโทษผ่านการเลือกตั้งได้.