ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานค่าเงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมาแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 31 เดือน สอดคล้องกับเงินหยวนที่แข็งค่า และราคาทองคำตลาดโลกที่ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์
เงินบาทแข็งค่าทะลุแนว 33.00 บาทต่อดอลลาร์ และ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ ไปทำสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 31 เดือนที่ 32.36 บาทต่อดอลลาร์ (แข็งค่าสุดนับตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ. 2565) โดยเงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นตามภาพรวมของสกุลเงินในเอเชีย นำโดย เงินหยวนที่ได้รับอานิสงส์จากความหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีน
นอกจากนี้ เงินบาทยังมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกที่ไปทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ สวนทาง Sentiment ของเงินดอลลาร์ ที่ยังอ่อนแอต่อเนื่องท่ามกลางกระแสการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดในระยะข้างหน้า (โดยตลาดประเมินว่า ยังมีความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในขนาดที่มากกว่า 0.25% ในการประชุมครั้งถัดๆ ไป)
อนึ่ง ในสัปดาห์นี้ ธปท. มีการส่งสัญญาณติดตามดูแลสถานการณ์เงินบาทอย่างใกล้ชิด หลังเงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะนี้
ในวันศุกร์ที่ 27 ก.ย. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 32.39 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับ 33.06 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (20 ก.ย. 67)
สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 23-27 ก.ย. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยที่ 695 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 11,884 ล้านบาท (แบ่งเป็นขายสุทธิพันธบัตร 11,882 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 2 ล้านบาท)
สัปดาห์ระหว่างวันที่ 30 ก.ย.-4 ต.ค. ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 32.10-32.70 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ รายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือน ส.ค. ของ ธปท. ถ้อยแถลงของประธานเฟด ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลกและสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI และ ISM ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชน ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราการว่างงานเดือน ก.ย. ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือน ส.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามตัวเลขดัชนี PMI เดือน ก.ย. ของจีน ญี่ปุ่น ยูโรโซน และอังกฤษ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/67 ของอังกฤษ และอัตราเงินเฟ้อเดือน ก.ย. ของยูโรโซนด้วยเช่นกัน