เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 67  ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวในสังคมโซเชียล ที่เกี่ยวกับความเดือดร้อนของประชาชนที่ประสบอุทกภัย ในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นภาพเตรียมการรับมือสถานการณ์น้ำท่วม  น้ำป่าไหลหลาก รวมถึงการเข้าช่วยเหลือของหน่วยงานภาครัฐ  เอกชน ตลอดจนมูลนิธิฯ  อาสาสมัครฯ  ขณะเดียวกันในโลกโซเชียล ได้มีการโจมตีการทำงานของนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย  ที่จะเกษียณอายุ 60 ปี ในวันที่ 30 ก.ย.นี้  หายตัวจากพื้นที่ นั่งรอนับวันทำงานที่เหลือ  ในขณะที่ชาวจ.เชียงราย ต้องระทมทุกข์จากอุทกภัยในครั้งนี้อย่างแสนสาหัส 

ในขณะที่โลกโซเชียลมีการพูดถึงนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่  หรือ “ผู้ว่าฯ เซมเบ้”  ที่อยู่ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่  ลงพื้นที่  คอยประสานงานร่วมกับทุกหน่วยงาน  ภาครัฐ  ทหาร ภาคเอกชน ตลอดจน อาสาสมัครกู้ภัย  เพื่อช่วยเหลือชาวเชียงใหม่  แบบถึงลูกถึงคน ทำให้เกิดการเปรียบเทียบการทำงานของผู้ว่าฯ 2 จังหวัด ที่ต่างกันราว “ฟ้ากับเหว” ท่ามกลางปัญหาอุทกภัยในครั้งนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ช่วงปลายเดือน ส.ค. ที่เชียงราย เกิดสถานการณ์น้ำท่วมระลอกแรก  โดยนายอนุทิน  รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ได้ลงไปดูแลจัดการสถานการณ์น้ำร่วมกับนายภูมิธรรม  เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม  เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 67 แต่ปรากฏว่า ผู้ว่าฯ เชียงราย ไม่อยู่ในพื้นที่  โดยทำหนังสือแจ้งว่า “ไม่มีเที่ยวบินกลับมา จ.เชียงราย”  ทำให้นายอนุทิน  ต้องรีบส่งนายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง ว่าที่ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงไปช่วยประชาชนในพื้นที่

และล่าสุด วันที่ 27-28 ก.ย. 67  น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  ได้นำ “ครม.ชุดใหญ่” ลงไปช่วยชาวบ้าน จ.เชียงราย  จ.เชียงใหม่ ปรากฏว่า ผู้ว่าฯ เชียงราย ก็มารับอยู่จุดเดียวเท่านั้น ก่อนจะโผล่ปรากฏตัวในพิธีเกษียณราชการ ที่ กทม.

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 29 ก.ย. 67 ผู้สื่อข่าวได้โทรศัพท์สัมภาษณ์ นายอนุทิน  ชาญวีรกูล  รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ถึงกรณีที่ขณะนี้สังคมออนไลน์รุมถล่มการทำงานของนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย  ที่เกียร์ว่าง ไม่ช่วยชาวบ้าน เพราะจะเกษียณอายุราชการ ก.ย.นี้ ว่า ในการลงพื้นที่ จ.เชียงราย  ของท่านนายกรัฐมนตรีและ ครม.ชุดใหญ่  เมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา ผู้ว่าฯ เชียงราย  ก็มาอยู่ต้อนรับเพียงแป๊บเดียว   เพื่อรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งท่านนายกฯ ก็มาถามตนว่า ผู้ว่าฯเชียงราย  กลับไป กทม. แล้ว ได้มาขออนุญาตหรือไม่ ซึ่งตนก็ได้กราบขอโทษท่านนายกรัฐมนตรีทันที  ซึ่งเขาก็ไม่ได้มาบอก หรือมาขออนุญาตอะไร เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ตรงนี้เป็นปัญหาเดิมๆ  พฤติกรรมเดิมๆ  ที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนอะไรที่จะต้องออกนอกพื้นที่ เพราะตอนนี้ชาวเชียงรายเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส ทั้งน้ำท่วม  ดินถล่ม ถือว่าสาหัสมากๆ เท่ากับผู้ว่าฯ เชียงราย ทิ้งงานแล้วให้นายกรัฐมนตรี มาทำแทนใช่หรือไม่  และถ้าหากนายอรรษิษฐ์  สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง ว่าที่ปลัดกระทรวงมหาดไทย ไม่เข้ามาช่วยในพื้นที่ ก็จะไม่สามารถจัดการปัญหาแบบเร่งด่วนได้เลย


“การจะมาอ้างว่าจะเกษียณอายุราชการคงไม่ได้ เพราะคนมหาดไทยลมหายใจคือประชาชน  และตรงนี้เป็นปัญหาเดิมๆ  พฤติกรรมเดิมๆ  ผมจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนถึงความจำเป็นเร่งด่วน เพราะถือเป็นพฤติกรรมซ้ำซาก ที่ไม่ปฏิบัติงาน ในฐานะเป็นผู้บัญชาการในพื้นที่โดยตรง และทั้งๆ ที่นายกรัฐมนตรีก็อยู่ในพื้นที่ด้วย จึงถือเป็นการกระทำที่อัปยศ อดสู ของกระทรวงมหาดไทย ในฐานะที่จะต้อง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับประชาชนอย่างสุดความสามารถ” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ส่วนที่มีการวิจารณ์ว่า เวลารัฐมนตรีลงพื้นที่ต้องมีข้าราชการมารอต้อนรับนั้น ตนอยากบอกว่า เวลานายกรัฐมนตรี  รัฐมนตรีลงมา ให้ความช่วยเหลือเร่งด่วน ผู้ว่าฯ  ควรจะต้องมา เพราะเป็นการมา “ทำงานร่วมกัน”  ซึ่งกรณี จ.เชียงราย มีเพียงรองผู้ว่าฯ 4 คน ปรากฏว่า มาเพียงคนเดียวคือ นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ  รองผู้ว่าฯ ส่วนรองผู้ว่าฯ อีก 1 คน ก็จะเกษียณอายุราชการ  ขณะที่  รองผู้ว่าฯ อีก 2 คน ไปรายงานตัวเรียนหลักสูตร วปอ.  ซึ่งมันไม่ใช่เวลาที่จะไปด้วยซ้ำ ประชาชนเดือดร้อนขนาดนี้แล้วนายกรัฐมนตรีก็ลงมา  มันไม่ใช่เวลา  แม้จะต้องสละสิทธิ์ เรียน วปอ. ก็ต้องสละสิทธิ์ ด้วยซ้ำไป ในขณะที่ตัวผู้ว่าฯ เชียงราย มาร่วมพิธีเกษียณใน กทม.แล้วปล่อยให้ประชาชนอยู่กันด้วยความยากลำบาก ทิ้งให้ท่านนายกรัฐมนตรีอยู่ในพื้นที่  ถือว่าไม่ถูกต้อง

“ผมขอฝากสื่อมวลชนมากราบขอโทษพี่น้องชาวเชียงราย ขอให้มั่นใจว่าตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป การทำงานในกระทรวงมหาดไทย จะเป็นไปในทิศทางที่เป็นปึกแผ่น  มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  ผมได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยคนใหม่ ให้คำนึงถึงเรื่องภัยจากน้ำท่วม เป็นเรื่องสำคัญสูงสุด” นายอนุทิน กล่าว.