เมื่อวันที่ 29 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.การต่างประเทศ กล่าวถ้อยแถลงในการอภิปรายทั่วไปของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (ยูเอ็นจีเอ) สมัยสามัญ ครั้งที่ 79 ที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา ตามเวลาในสหรัฐอเมริกา โดยนายมาริษได้ย้ำความมุ่งมั่นของไทย ในการดำเนินนโยบายรัฐบาลแบบมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ยึดแนวนโยบายเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
นายมาริษ ยังกล่าวถึงความสำคัญของการปฏิรูปสหประชาชาติ เพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ในโลกให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างเสริมความเข้มแข็งของกระบวนการเพื่อสันติภาพ และความมั่นคงให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในภูมิภาคทั่วโลก ยกตัวอย่างสถานการณ์ในเมียนมาที่ไทยให้ความสำคัญในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด ทั้งการส่งเสริมให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพในเมียนมาที่ควรเกิดขึ้นจากภายในเมียนมา และไทยพร้อมสนับสนุนความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมอย่างต่อเนื่อง สำหรับการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือเอสดีจี โดยไทยพร้อมสร้างสะพานเชื่อม เพื่อส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างโลกเหนือกับโลกใต้ ผ่านความตั้งใจที่จะเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ โออีซีดี และกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหม่ (BRICS) ซึ่งสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในโลก อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกภาคส่วนและทุกประเทศทั่วโลก เพื่อลดผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและความมั่นคงมนุษย์
นายมาริษ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นที่จะปกป้อง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชนสำหรับทุกคน ผ่านการผลักดันความยุติธรรมและความเท่าเทียมในสังคม โดยกล่าวถึงการสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือเอชอาร์ซี วาระปี ค.ศ. 2025-2027 ของไทยด้วย นอกจากนี้ ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการสร้างอนาคตร่วมกันของโลก โดยให้ทุกคนได้รับการปกป้อง และมีความเจริญรุ่งเรือง ผ่านความมุ่งมั่นทางการเมือง เพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ของโลกไปด้วยกัน และแสดงความพร้อมของไทยในการเป็นสะพานเชื่อม ส่งเสริมการเจรจาและความเชื่อใจระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ ในห้วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญครั้งนี้ นายมาริษ ยังได้พบปะผู้แทนสมาคมไทย ภาคธุรกิจ และภาคสื่อมวลชนไทยที่อาศัยอยู่ในนครนิวยอร์ก โดยได้กล่าวถึงความสำคัญกับการต่างประเทศที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และชื่นชมชุมชนไทย ที่มีความเข้มแข็ง และมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ในภารกิจของสถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลใหญ่ ที่พร้อมรับฟังข้อคิดเห็น และประเด็นห่วงกังวลเพื่อหาแนวทางความร่วมมือ และการให้สนับสนุนต่อไป