สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากเมืองพาโร ประเทศภูฏาน เมื่อวันที่ 2 ต.ค. ว่า ภูฏาน เป็นประเทศที่มีประชากรไม่ถึง 800,000 คน ตั้งอยู่ระหว่างจีนกับอินเดีย และเป็นที่รู้จักจากนโยบายซึ่งให้ความสำคัญกับความสุขมวลรวมประชาชาติ (จีเอ็นเอช) มากกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ
แม้รัฐบาลทิมพูพยายามอย่างหนักเพื่อความพึงพอใจของประชาชน แต่ภูฏานกลับประสบปัญหาการว่างงานอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้คนหนุ่มสาวหลายพันคนอพยพไปต่างประเทศ
ทั้งนี้ ทางการภูฏานหวังว่า โครงการใหม่จะช่วยพลิกกลับแนวโน้มดังกล่าว ด้วยการดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศเข้าสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (เอสอีแซด) แห่งใหม่ ที่เมืองเกเรพู บริเวณชายแดนติดกับอินเดีย ซึ่งปัจจุบันเป็นเมืองขนาดเล็ก ที่มีประชากรไม่ถึง 10,000 คน
Pleasure interacting with Professor @JosephEStiglitz on the inaugural day of Bhutan Innovation Forum today. Our conversation focused on the economic aspects of the Gelephu Mindfulness City and Bhutan at large. A truly enriching discussion! pic.twitter.com/Nx3tGXcbZD
— Tshering Tobgay (@tsheringtobgay) October 1, 2024
ขณะที่เอกสารสื่อประชาสัมพันธ์ ระบุว่า โครงการข้างต้นจะเป็นคลังเก็บข้อมูลในอนาคต สำหรับธุรกิจที่ใช้ทรัพยากรพลังงานน้ำที่มีราคาถูกและอุดมสมบูรณ์ของภูฏาน ตลอดจนสำหรับศูนย์ข้อมูล และบริษัทปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ด้วย
“เมืองแห่งนี้จะเป็นสถานที่สำหรับความคิดสร้างสรรค์ และการแบ่งปันความรู้ โดยมีพื้นที่สาธารณะซึ่งได้รับการออกแบบมาเพื่อการเรียนรู้ และการทำงานร่วมกันของชุมชน” นายบีอาร์ก อินเกิลส์ สถาปนิกหลักของโครงการ กล่าว
อนึ่ง รัฐบาลภูฏานเปิดเผยรายละเอียดอื่น ๆ เกี่ยวกับเมืองแห่งสติ เพียงเล็กน้อย นับตั้งแต่สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งภูฏาน ทรงประกาศโครงการ เมื่อเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการว่า การก่อสร้างจะเริ่มต้นเมื่อใด หรืองบประมาณทั้งหมดอยู่ที่เท่าไหร่.
เครดิตภาพ : AFP