เมื่อวันที่ 2 ต.ค. รายการโหนกระแสวันนี้ ร่วมพูดคุยหลากหลายแง่มุมในเรื่องเหตุการณ์สลดหดหู่ ไฟไหม้รถบัสของนักเรียน จนมีผู้เสียชีวิตมากถึง 23 คน เป็นเด็ก 20 และครูอีก 3 คน ซึ่งเกิดประเด็นต่างๆ ตามมามากมาย ทั้งในแง่ความปลอดภัยของรถ คนขับ และเรื่องของการทัศนศึกษา ที่ยังเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมว่า ยังควรต้องมีอยู่ไหม
ขณะที่ อ.พัฒนเดช อาสาสรรพกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านรถยนต์ ให้ความเห็นว่า เรื่องอายุการใช้งานของรถบัส ไม่ใช่สาระสำคัญของเรื่องนี้ เพราะรถคันนี้มีการเปลี่ยนแปลงตัวถัง เปลี่ยนเครื่องยนต์ เหมือนเป็นการต่อรถใหม่ขึ้นมาคันหนึ่งเลย แต่ต้องถามว่า มันผ่านการตรวจสอบโดยกรมการขนส่งทางบกหรือไม่ ส่วนสำคัญคือ การต่อเติม ดัดแปลง ติดตั้งอะไรต่างๆ ได้มาตรฐานไหม ในเอกสารจดทะเบียน มีการลงไว้ว่าใช้ก๊าซ CNG หรือ NGV 3 ถัง แต่ในสภาพจริงที่เราไปเจอ มันมีมากกว่านั้น
ต้องถามว่า การไปติดตั้งเพิ่มจำนวนถังก๊าซ มีการติดตั้งก่อนหรือหลังจากขนส่งมาตรวจสอบ เพราะการติดตั้งถังวัตถุไวไฟขนาดนี้ มันต้องมีการตรวจมาตรฐานโดยวิศวกรผู้ชำนาญ และเมื่อมันมีการรั่วไหลของก๊าซ มันจะต้องพุ่งขึ้นสูงในอากาศอย่างรวดเร็ว แต่ในพื้นที่ที่ติดตั้งของรถบัสคันนี้ มันไม่มีช่องว่าง ไม่มีพื้นที่ระบายให้ก๊าซลอยขึ้นได้
จุดแรกที่เกิดเปลวเพลิง คือจุดหน้ารถฝั่งขวาใกล้กับประตูคนขับ ก่อนจะลามเข้าไปในห้องโดยสาร ซึ่งตอนแรกก่อนจะเห็นเปลวเพลิงขึ้นมา มันเกิดกลุ่มควันดำทะมึนขึ้นมาก่อน ซึ่งโดยปกติแล้ว ถ้าเป็นไฟที่เกิดจากก๊าซรั่ว มันจะเกิดเปลวไฟลุกพึ่บขึ้นมาทันที ควันจะน้อย แต่เมื่อเกิดควันสีดำเยอะขึ้นมาก่อน แปลว่าไฟอาจจะเผาไหม้วัสดุอื่น เช่น พรมปูพื้น อะไรเหล่านี้ ก็เป็นได้
อันดับแรกเราต้องดูก่อนว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจากอะไร อันดับแรกคือ มีคนบอกว่า ยางหน้าระเบิด จนรถเสียหลักออกด้านขวาไปชนแบริเออร์ แล้วเกิดประกายไฟ
ในความเป็นจริง แบริเออร์ปูนมันมีสโลปที่เรียกว่าตีนช้างอยู่ ไม่ใช่ว่าไปชนแล้วมันจะปะทะทันที มันเกิดขึ้นจากยางจริงไหม เกิดขึ้นอย่างไร เบรกติดความร้อนสะสมจนยางระเบิดก็เป็นไปได้ ยางระเบิดแล้วทำให้ท่อก๊าซหลุดรั่ว ก็เป็นไปได้ ความเป็นไปได้ยังมีหลากหลายทาง อันนี้ต้องรอให้ผลการพิสูจน์ทราบแน่ชัด
ขณะที่ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม และอดีตผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติ เพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ลงความเห็นในเรื่องการทัศนศึกษา ว่าควรมีหรือไม่ควรมี เรื่องนี้เราไม่สามารถจะฟันธงแบบเหมารวมทั้งหมด ว่าให้ยกเลิกไปเลย หรือยังต้องมีต่อไป
แต่สิ่งต่างๆ ขึ้นอยู่กับช่วงอายุของเด็ก เด็กเล็กระดับอนุบาล ประถมต้น เป็นเด็กที่ช่วงวัยยังไม่สามารถที่จะเรียนรู้อะไรจากการไปทัศนศึกษาเหล่านี้ได้ แม้แต่การเรียนการสอนในโรงเรียน ยังต้องบริหารจัดการความเสี่ยงให้ดี เพราะเด็กเล็กมากๆ อาจเกิดเหตุอันตรายต่างๆ ได้ทุกที่ ทุกเวลาอยู่แล้ว
ส่วนเด็กที่โตขึ้นมาหน่อย เป็นไปได้ไหมว่า หน่วยงานภาครัฐต่างๆ จะทำให้เกิดศูนย์การเรียนรู้ในจังหวัดของเขาเอง ไม่ต้องเดินทางไปไกล ส่วนเด็กโต ก็อาจจะสามารถเดินทางออกมาไกลหน่อยได้ สิ่งเหล่านี้มันต้องดูตามพัฒนาการแต่ละช่วงวัย ไปควบคู่กับการบริหารจัดการความเสี่ยง
ขณะที่ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ มองว่า กระแสในโลกออนไลน์เมื่อวานนี้ ช่วงแรกก็เทไปทางให้ยกเลิกทัศนศึกษา ต่อมากมีคนมาแย้งในอีกฝั่ง ก็ต้องถามว่า ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในกรณีที่เด็กไปแข่งกีฬาแห่งชาติ เราจะยกเลิกกีฬาแห่งชาติไหม มันเป็นตรรกะเดียวกัน
ลักษณะนี้มันสอดคล้องกับที่ รศ.นพ.สุริยเดว บอกว่า ต้องจัดการความเสี่ยงตามช่วงวัย เด็กเล็กไม่ควรให้ออกไปไหนไกลๆ แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องไปจริงๆ ผู้ปกครองต้องไปด้วยเท่านั้น ถ้าผู้ปกครองไปไม่ได้ เด็กคนนั้นก็ต้องไม่ให้ไป
การพัฒนาการเรียนรู้เหล่านี้ มันมีเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ได้หมายความว่า การไม่ให้เด็กเล็กออกไปทัศนศึกษา แล้วจะทำให้เขาไม่เกิดการเรียนรู้ มันมีเทคโนโลยีอะไรต่างๆ มาทดแทนได้มากขึ้นแล้ว รอจนเขาเติบโตเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ช่วงที่การเรียนรู้เติบโตมากขึ้น ค่อยไปที่ไกลๆ แบบนี้ต่างหากที่จะควบคู่กันไประหว่างการจัดการความเสี่ยง กับการเรียนรู้ที่เหมาะสม
ในเรื่องของคนขับรถที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ร้อนแรง ว่าไม่ให้ความช่วยเหลือจนเกิดเหตุการณ์แบบนี้ อ.พัฒนเดช ให้ความเห็นอีกมุมหนึ่งว่า จากภาพที่เห็น ตนไม่ได้บอกว่าเขาถูก แต่ภาพที่เห็นว่าเขาลงมาพยายามหาอะไรมาช่วยแก้สถานการณ์ แต่เขาไม่มีทักษะ ไม่มีความรู้ มันก็เลยทำได้แค่นั้น
ขณะที่ รศ.นพ.สุริยเดว ชี้ว่า เวลาเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ มันต้องใช้ 3 ส่วนประกอบกัน คือ ทักษะ จิตสำนึก และสัญชาตญาณ เวลาเกิดเหตุฉุกเฉินแบบนี้ จิตสำนึกมันจะชัตดาวน์ ปิดการทำงานทันที จะเหลือแค่ทักษะ กับ สัญชาตญาณ ซึ่งสัญชาตญาณมันฝึกฝนได้ มันฝึกให้ซึมลึกลงไปในสันดานได้ เมื่อเกิดเหตุต่างๆ สัญชาตญาณของเรามันจะสั่งให้เราแก้ปัญหาต่างๆ โดยอัตโนมัติ แต่อย่างที่เห็นก็คือ คนขับคนนี้ อาจจะขาดทักษะ และขาดสัญชาตญาณที่ดี
ด้าน นายชีพ น้อมเศียร ผู้อำนวยการสำนักวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก โฟนอินเข้ามายืนยันว่า รถบัสคันนี้ผ่านการตรวจสภาพจากกรมการขนส่งทางบกแล้วตามขั้นตอน แต่ในตอนหลังจากเกิดอุบัติเหตุ เราต้องบูรณาการการทำงานร่วมกับตำรวจ และ ตัวแทนจากปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย
ส่วนเรื่องการต่อเติมถังก๊าซเพิ่มเติม จากเดิมที่ลงไว้ตอนที่ตรวจสภาพ ลงนามรับรองโดยวิศวกร คือ 6 ถัง แต่จำนวนถังก๊าซที่ปรากฏในที่เกิดเหตุ คือ 11 ถัง ตรงนี้ต้องไปตรวจสอบว่ามันมีที่มาที่ไปอย่างไร