เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 2 ต.ค. ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบการให้บริการของรถบัสนำเที่ยวในเขต จ.ขอนแก่น หลังเกิดเหตุสะเทือนขวัญที่ จ.ปทุมธานี จนเป็นเหตุให้ครูและนักเรียนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ซึ่งพบว่าภายหลังเกิดเหตุส่งผลให้รถนำเที่ยวถูกเลิกจ้างไปกว่า 80%
นายจำรูญ วรรณภาส อายุ 53 ปี อยู่บ้านเลขที่ 151 หมู่ 10 บ้านท่าหิน ต.บึงเนียม จ.ขอนแก่น เจ้าของ “เอ๋ ทรานสปอร์ต” กล่าวว่า หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการรถบัสโดยสารและรถบัสนำเที่ยวอย่างมาก เพราะหลังเกิดเหตุ มีผู้ว่าจ้างได้ติดต่อขอยกเลิกการเช่าบริการเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคิดเป็น 80% ของการว่าจ้างที่ตกลงกันไว้ ซึ่ง เอ๋ ทรานสปอร์ต ได้ให้บริการเช่ารถบัสโดยสารนำเที่ยว มาแล้ว 30 กว่าปี โดยปัจจุบันมีรถให้บริการจำนวน 8 คัน โดยมีทั้งรถบัสโดยสารแบบ 2 ชั้น จำนวนที่นั่ง 45-49 ที่นั่ง และรถบัสโดยสารชั้นครึ่งจำนวนที่นั่ง 50 ที่นั่ง
“ราคาค่าจ้างแต่ละเที่ยวก็จะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งระยะทางที่เดินทาง ระยะเวลาที่ใช้ รวมถึงเส้นทางและกำหนดการในการเดินทางไปสถานที่ต่างๆ หากใช้รถมากค่าใช้จ่ายก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย โดยปัจจุบันอัตราค่าบริการจะอยู่ที่ 5,000-15,000 บาทต่อวัน ซึ่งปกติผู้ใช้บริการหรือลูกค้า จะเป็นจากโรงเรียนต่างๆ ประมาณ 50% หน่วยงานราชการ 40% และอื่นๆ ทั่วไปงานแต่ง งานบุญอีกราว 10% ซึ่งปกติงานจะรับแบบเดือนชนเดือนอยู่แล้ว คืองานที่ล็อกไว้หมดแล้ว พอเกิดเหตุการณ์เกิดขึ้นแบบนี้ โรงเรียนหรือผู้จ้าง ก็แจ้งยกเลิก โดยเฉพาะโรงเรียนและสถาบันการศึกษา มีการขอยกเลิก 100% ซึ่งก็เข้าใจเหตุผลในการยกเลิก และต้องขอแสดงความเสียใจกับผู้สูญเสียด้วย”
นายจำรูญ กล่าวว่า จากนี้ไปต้องมีการแนะนำหรือสอนการใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือต่างๆ ภายในรถหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น ให้แก่ผู้โดยสารที่มาใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นค้อนทุบกระจก หรือการเปิดประตูฉุกเฉิน ทั้งจากด้านในตัวรถ และจากนอกตัวรถ รวมไปถึงผู้ประกอบการเอง ต้องมีการกวดขันตรวจสอบรถให้มากขึ้น จาก 10 ก็เป็น 100 ไปเลย อะไรที่เห็นว่ามันเป็นจุดอ่อนจุดบอด เราก็มาแก้ไข ทั้งนี้โดยปกติแล้วทุกครั้งไม่ใช่แค่ก่อนออกเดินทาง จะมีการเช็กรถทุกช่วงระยะเวลาเพราะเป็นรถรับจ้างไม่ประจำทาง เช่น วันนี้เดินทางไปหนองคาย ระหว่างทาง ได้ยินเสียงอะไรผิดปกติก็ต้องจอดแก้ไขก่อน เพื่อความปลอดภัย หากแก้ไขไม่ได้ ก็ต้องกลับมาแก้ที่อู่ ไล่ทำระบบใหม่ทั้งหมด เพราะงานออกแทบทุกวัน หรือทุกอาทิตย์ รถต้องมีความพร้อมในการใช้งานเสมอ หากพบสิ่งผิดปกติก็ต้องรีบแก้ไขก่อนนำรถออกใช้งาน
นายจำรูญ กล่าวว่า ทางที่ดีที่สุดคือผู้ประกอบการต้องดูแลรถตัวเองให้ดีขึ้นกว่านี้ ทั้งนี้รถบัสโดยสารเป็นรถที่ต้องมีคนเข้ามาจ้าง มันไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ มีเพียงให้ผู้โดยสารมานั่งอย่างเดียว อาศัยคนขึ้นนั่งอย่างเดียว เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ก็คือจบต้องทำใจ ยอมรับกระทบมากแต่เหตุการณ์แบบนี้ก็ไม่มีใครอยากให้เกิด เข้าใจทั้งผู้ประกอบการและผู้สูญเสีย