ยังมีคิวเดินทางไปต่างประเทศอีกครั้ง หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา “อิ๊งค์” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางไปร่วมประชุม ระดับ ผู้นำกรอบความร่วมมือเอเชีย Asia Cooperation Dialogue หรือ ”เอซีดี” ครั้งที่ 3 กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ แล้วเกิดประเด็นดราม่าขึ้น เมื่อนายกฯ ก้มหน้าอ่านสคริปต์ บนไอแพด ระหว่างเจรจากับผู้นำต่างประเทศ จนชาวเน็ตหยิบมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก และล้อเลียนกันอย่างสนุกสนาน ต่างแสดงความเห็นไปใน ทางไม่เห็นด้วย
นอกจากนี้มีผู้ใช้โซเชียล นาม “shin21” ซึ่งเป็นของ “นายกฯ อิ๊งค์” ยังเข้าไปตอบคนที่ออกมาวิจารณ์ในโซเชียล เข้ามาตอบว่า… “ขอบคุณสำหรับคำแนะนำค่ะ รบกวนดูข่าว+หาข้อมูลเยอะๆ นะคะ เวลาประชุมแบบนี้ ทั่วโลกเค้าอ่านกันค่ะ มันเป็น commitment เป็นสิ่งที่ต้องบันทึกค่า อ่านทุกคน ตั้งแต่ sheikh ถึง minister เลยค่ะ ลองหาข้อมูลเพิ่มดูเนาะ ถ้าเป็น bilateral ส่วนใหญ่จะจดหัวข้อไป แล้วก็พูดคุยกัน แบบไม่ต้องอ่านจะเกิดการสร้าง connection ที่ดีค่ะ ดูแค่หัวข้อให้ครบถ้วน ไม่มีใครแย่กว่าใคร หรอกค่ะ ทุกคนมีความสามารถกันคนละด้านค่ะ เปิดใจกว้างๆ ลองให้โอกาสตัวเอง ลดอคติลง จะมีความสุขขึ้นค่ะ”
ด้าน ”น.ส.แพทองธาร” ให้สัมภาษณ์กรณีมีเสียง วิพากษ์วิจารณ์การใช้ไอแพด กับบทบาทผู้นำของนายกฯ รวมถึงการตอบคอมเมนต์ จนมีคนตั้งคำถามถึงภาวะผู้นำว่า ไม่ได้คิดว่าเป็นการแขวน ทุกคนสามารถตั้งค่าความเป็นส่วนตัวได้อยู่แล้ว เพียงแต่อยากอธิบายในหัวข้อนี้ว่า บางทีเราด่วนตัดสินคนอื่นเกินไป มันต้องมีข้อมูลด้วยในการจะพูดแบบนี้ ซึ่งไอแพดเป็นเรื่องที่ ทุกคนใช้กันทั่วโลก เพราะจะได้ครบประเด็นและถูกต้อง นี่คือสิ่งที่อยากสื่อ และกระแสจากการทำงานเป็นผลพลอยได้ เมื่อกระแสดีแน่นอนทุกคนมีกำลังใจ ถ้ากระแสลบ ก็เสียใจเป็นธรรมดา แต่เสียใจแล้วต้องไปต่อ เวลาไปพูดที่ต่างประเทศ เป็นภาษาอังกฤษ มีคำศัพท์เฉพาะในเรื่องกฎหมาย รวมถึงความอ่อนไหว ระหว่างประเทศ เพราะหากผิดที เป็นลมเลย อย่างตอนกล่าวในงานสัมมนา ใช้ไอแพดในการดูหัวข้อ เช่นเดียวกับเวลาไปคุยระหว่างประเทศก็จะใช้แบบนี้เช่นกันเพื่อดูหัวข้อ แต่ถ้า เป็นเรื่องกฎหมาย ที่อ่อนไหว อ่านทั้งประโยคเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด แต่สปีชที่นั่งโต๊ะประชุมใหญ่ต้องอ่านทุกคน เรื่องนี้ทั่วโลกทำกัน เพราะเป็นเรื่องที่ กระทรวงการต่างประเทศ รวบรวมข้อมูลทั้งหมดมาหลายหน้า แล้วต้องอ่านตามนั้นให้ที่ประชุมรับรู้ตรงกัน
ขณะที่วันที่ 8 ต.ค. “น.ส.แพทองธาร” มีกำหนดการ เยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 8 ต.ค. ตามคำเชิญของนายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว โดยมีกำหนดการเข้าพบหารือกับนายสอนไซ และ นายไซสมพอน พมวิหาน ประธานสภาแห่งชาติ สปป.ลาว รวมทั้งเข้าเยี่ยมคารวะนายทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศ สปป.ลาว เพื่อหารือความร่วมมือ แก้ไขปัญหายาเสพติด การหลอกลวงออนไลน์ จากนั้นวันที่ 9-11 ต.ค. นายกฯ จะเข้าร่วม การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44-45 และประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิดหลัก “อาเซียน: เพิ่มทวีความเชื่อมโยงและความเข้มแข็งในอาเซียน”
พร้อมกันนี้ ”น.ส.แพทองธาร” ยังจะได้ประชุมหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับคู่เจรจา ได้แก่ จีน สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินเดีย สหรัฐอเมริกา และ แคนาดา รวมทั้งสหประชาชาติ เพื่อร่วมหารือในประเด็นสำคัญต่าง ๆ อาทิ การเสริมสร้างประชาคมอาเซียน และยังมีกำหนดเข้าร่วมการหารือกับผู้แทนภาคส่วนต่าง ๆ ได้แก่ สมัชชารัฐสภาอาเซียน สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน และเยาวชนอาเซียน รวมทั้งการประชุม Asia Zero Emission Community Leaders Meeting ครั้งที่ 2 และมีกำหนดหารือทวิภาคีกับผู้นำจากประเทศต่าง ๆ ที่เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย
ด้าน “นายจุลพงศ์ อยู่เกษ“ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) แถลงกรณี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ จะเดินทางไปประชุมอาเซียนที่ สปป.ลาว ว่า หากมองจากมุมมองนานาชาติจากการวัดดัชนีอำนาจหรืออิทธิพลในเอเชีย ประเทศไทย อาจขาดพลังอำนาจ ในหลายด้านที่จะดึงดูดความสนใจจากประเทศคู่เจรจานอกอาเซียน อีกทั้ง จะมีผู้นำคนใหม่ ของประเทศอาเซียนเข้าร่วมประชุมด้วย ไม่ว่าจะเป็น นายลอเรนซ์ หว่อง นายกฯ สิงคโปร์, ประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ และนายกฯ กัมพูชา ดังนั้น ความสนใจของประเทศคู่เจรจา เช่น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐและออสเตรเลีย อาจพุ่งไปที่ ผู้นำใหม่จากประเทศ เหล่านี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายกฯ สิงคโปร์ และประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ โดยนายกฯ ควรมุ่งไปที่การเจรจาแบบ ตัวต่อตัว กับผู้นำหรือตัวแทนผู้นำของเมียนมา ลาวและกัมพูชา ในปัญหา 3 เรื่องคือ ปัญหายาเสพติด ปัญหาน้ำท่วมข้ามแดน ที่เกิดจากเส้นทางน้ำธรรมชาติตามพรมแดน และปัญหาคอลเซ็นเตอร์ เมื่อถามว่ามองดราม่าการ อ่านสคริปต์ของนายกฯ ที่อิหร่านอย่างไร นายจุลพงศ์ กล่าวว่า ไม่คิดว่าเรื่องนี้จะเป็นสาระ เท่ากับสิ่งที่นายกฯ แถลงออกมา ซึ่งยังไม่เห็น
คงต้องตามดู ภารกิจในการเดินทางไปต่างประเทศครั้งที่ 2 จะมีดราม่าอะไรเกิดขึ้น อีกหรือไม่ แต่ ”น.ส.แพทองธาร” ก็ต้องทำใจ เพราะในฐานะเป็นผู้นำประเทศ ทุกความเคลื่อนไหวทุกอิริยาบถ ย่อมถูกจับตามอง มีทั้งคนที่หวังดี และ ต้องการจับผิด อยู่ที่ว่าสิ่งที่ทำ ประเทศจะได้ประโยชน์หรือไม่
ยังอยู่ในหมวดการจัดทัพข้าราชการหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะ หน่วยงานทางด้านความมั่นคง อย่าง “สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)” ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) “นายภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯ ในฐานะผู้อำนวยการ สมช. จะเสนอชื่อบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งเป็นเลขาฯ สมช.คนใหม่ ซึ่งมีแคนดิเดต อยู่ 3 คนประกอบด้วย นายฉัตรชัย บางชวด นายรัชกรณ์ นภาพรพิพัฒน์ และ นายวรณัฐ คงเมือง รองเลขาธิการ สมช. อย่างไรก็ตามมีรายงานระบุว่า นายภูมิธรรมจะเสนอชื่อ “นายฉัตรชัย บางชวด” เป็น เลขาธิการสมช.คนใหม่ ซึ่งถือเป็นการปิดฉาก การดึงคนนอก เข้ามาทำหน้าที่ดูแลงานด้านความมั่นคง แม้ก่อนหน้าจะมีข่าว “พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข” รักษาราชการแทน (รรท.) รอง ผบ.ตร. อาจเป็นตาอยู่มานั่งเก้าอี้ หลังต้องอกหักจากเก้าอี้ “ผบ.ตร.” แต่ในที่สุด ก็ไม่ได้เป็นไปตามนั้น
นอกจากนี้ต้องจับตามอง กระทรวงมหาดไทย ภายใต้การดูแลของ “นายอนุทิน ชาญวีรกูล“ รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย จะเสนอแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดหรือไม่ หลังหลายจังหวัดต้องให้รองผู้ว่าฯ รักษาการในหลายพื้นที่ เพราะมีปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขคือ ปัญหาภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะเรื่องน้ำท่วม คงต้องรอดูในการประชุม ครม. จะมีการจะเสนอ แต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด หรือไม่
ส่วนการพิจารณา พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่มีความเห็นต่างระหว่างสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา “นายชูศักดิ์ ศิรินิล” รมต.สำนักนายกฯ ในฐานะ กรรมาธิการ (กมธ.) และ ที่ปรึกษาคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีวุฒิสภาส่งร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ กลับให้สภาว่า เข้าใจว่าส่งมาแล้วซึ่งคงจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาเพื่อให้ยืนยันว่าท้ายที่สุดแล้ว สส.จะเห็นอย่างไร ก่อนจะนำไปสู่ การตั้ง กมธ.ร่วมกัน ระหว่าง สส. กับ สว.เพื่อมาประชุมร่วมกันว่าท้ายที่สุดแล้วจะเป็นอย่างไร เมื่อถามว่า ผลที่ไปศึกษามาว่าทำประชามติสองครั้ง ได้ข้อสรุปแล้วหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า อยู่ระหว่างหารือ ยังไม่ได้ข้อยุติระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล แต่เป็นความเห็นของฝ่ายที่สนใจจะทำ รัฐธรรมนูญ (รธน.) ฉบับใหม่
เมื่อถามว่า ตามโรดแม็พของรัฐบาล ที่อยากทำประชามติช่วงแรกพร้อมกับการเลือก นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในเดือน ก.พ.นั้น นายชูศักดิ์ กล่าวว่า หากตกลงกันไม่ได้ซึ่งก็ต้องรอไว้ 180 วัน แบบนี้ไม่ทันแน่นอน หากจะให้ทันเหมือนที่ “นายนิกร จำนง” ที่ปรึกษา กมธ. พิจารณา พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ให้สัมภาษณ์นั้น ก็อาจจะมีแนวทางอื่น ที่กมธ.ร่วมต้องไปพิจารณา ซึ่งหากเห็นพ้องก็จะไปสู่การพิจารณาร่างกฎหมายได้ และไม่จำเป็น ต้องใช้เวลาถึง 180 วัน อาจจะใช้เวลาแค่บวก ลบ 1 เดือน จะสามารถทำให้เสร็จได้ ขึ้นอยู่กับว่า กมธ.ร่วมกันจะพิจารณาอย่างไร หากเป็นเช่นนี้ก็จะทันใช้ในช่วง ม.ค.-ก.พ. 68
ขณะที่รายงานของคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษา แนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สภา “นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ“ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานวิปรัฐบาล ระบุว่า รายงานของกมธ.ฯ จะเลื่อนไปก่อน เพื่อรอ พูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล ให้เกิดความชัดเจนก่อน ที่ผ่านมายอมรับว่าฟังแต่ฝ่ายค้าน แต่ยังไม่ได้พูดกับพรรคร่วมรัฐบาล ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งต้อง แสวงหาความร่วมมือ ไม่ต้องการให้เกิดกรณีเมื่อรายงานเข้าสู่สภาแล้ว มีประเด็นที่ขัดแย้งกัน
ดังนั้นทั้งร่าง รธน. และการผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ต้องอยู่ที่ท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาล เพราะที่ผ่านมา พรรค พท. อาจไปหารือกับ “พรรค ปชน.” จนลืมรับรู้ความรู้สึกของพรรคร่วมรัฐบาล ถ้าไม่อยากให้เกิดภาพความขัดแย้ง พรรคร่วมรัฐบาลคงต้องเดินไปพร้อมกัน
“ทีมข่าวการเมือง”