วันที่ 8 ต.ค. ที่ โรงแรมขอนแก่นโฮเต็ล จ.ขอนแก่น นายศิริวัฒน์ พินิจพานิชย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานการแถลงข่าวการจัดงาน “ประเพณีออกพรรษา ลอยประทีปบูชา พุทธกตัญญู ประจำปี 2567” พร้อมด้วย นายธีระศักดิ์ ทีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ร่วมแถลงข่าว ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-18 ตุลาคม 2567 ณ บริเวณริมบึงแก่นนคร โดยมีส่วนราชการ ภาครัฐ เอกชน และชาวชุมชนเข้าร่วมกิจกรรม
นายธีระศักดิ์ กล่าวว่า งานประเพณีออกพรรษา ลอยประทีปบูชา พุทธกตัญญู เป็นประเพณีวัฒนธรรมที่คนอีสานปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยอดีตกาล ตามความเชื่อของคนอีสานที่การลอยประทีปบูชาในช่วงเทศกาลออกพรรษา เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เทศบาลนครขอนแก่น และหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ในจังหวัดขอนแก่น และชาวชุมชนเขตเทศบาลนครขอนแก่น กำหนดจัดงาน “ประเพณีออกพรรษา ลอยประทีปพุทธกตัญญู” เพื่อเป็นการอนุรักษ์ฟื้นฟู สืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีศิลปวัฒนธรรมวิถีอีสาน อันเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นให้สืบทอดต่อไป และปลูกฝัง สร้างจิตสำนึกให้เด็ก เยาวชน และประชาชน เกิดความรักความสามัคคี เรียนรู้การอยู่ร่วมกันอย่างสุขและสมานฉันท์ ตลอดจนเป็นการส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น
“การจัดงานประเพณีออกพรรษา ฯในปี 2567 กิจกรรมที่จัดขึ้น ยังคงเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมทำนุบำรุงพระศาสนา อนุรักษ์สืบสานศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น และสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ ได้แก่ พิธีเปิดงานประเพณีออกพรรษา , การประกวดฮ้านประที่ป , พิธีกวนข้าวทิพย์ , การประกวดเทพีประทีปแจ้งจำแลง , กิจกรรมวันพุทธกตัญญู ,พิธีมอบโล่ครอบครัวกตัญญู , พิธีมอบรางวัลการประกวดฮ้านประทีป ,การแสดงธรรมเทศนา ,พิธีลอยประทีปบูชาพุทธกตัญญ , พิธีตักบาตรโทโวโรหณะ ,กิจกรรมการทำกระทงที่บริเวณท่าน้ำคุ้มวัดต่างๆ รอบบึงแก่นนคร และการออกร้านจําหน่ายสินค้า OTOP ตลอดจนฟรีคอนเสิร์ตทุกคืน ได้แก่ การแสดงของนักร้องลูกทุ่งหมอลำชื่อดังในวันเปิดงาน ผู้ใหญ่บ้านฟินแลนด์ (โตเกียวมิวสิค) และการแสดงคอนเสิร์ตลูกทุ่งหมอลำ คณะเพชรสืบศิลป์ , คณะจอมพลโปรโมชั่น และ มายออดิโอ”
เทศบาลนครขอนแก่น ขอประชาสัมพันธ์เชิญชวนพี่น้องชาวขอนแก่น รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียง และนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย-ต่างชาติ มาร่วมสืบสานงานประเพณีออกพรรษา ลอยประทีปบูชา พุทธกตัญญู ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 15-18 ตุลาคม 2567 ณ บริเวณริมบึงแก่นนคร ให้เป็นประเพณีที่งดงามอันทรงคุณค่าทางวัฒนธรรมอีสานอย่างแท้จริงต่อไป