นอกเหนือภาพลักษณ์สายตาสากล ซึ่งไทยเป็น ภาคีว่าด้วยอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และเพิ่งถอน “ข้อสงวน” ข้อ 22 ว่าด้วยเด็กผู้ลี้ภัยและเด็กผู้แสวงหาที่พักพิงไปเมื่อวันที่ 30 ส.ค. ที่ผ่านมา

ประเด็นความสำคัญของ “การจัดการศึกษา” เป็นอีกมุมที่ นายสุรพงษ์ กองจันทึก นักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร สะท้อนผ่าน “ทีมข่าวอาชญากรรม”

นายสุรพงษ์ ระบุ กฎหมายของไทยกำหนดเรื่องการศึกษาไว้ในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 และมีผลบังคับใช้ถึงปัจจุบัน โดยมาตรา 42 ระบุชัด บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นหมู่คณะ การรวมตัวกันทางวิชาการ การศึกษาอบรม การเรียนการสอน จึงย่อมได้รับความคุ้มครอง

พร้อมมองการศึกษาไม่ใช่แค่สิทธิมนุษยชน แต่เป็นสัญชาตญาณที่สิ่งมีชีวิตจำเป็นต้องมี เพื่ออนาคตที่ดีขึ้น และรัฐควรสนับสนุนหากมีกลุ่มใดจัดการศึกษาได้

สำหรับศูนย์การเรียนรู้ รัฐออกแนวนโยบายบังคับให้เด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี (ระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย) เพื่อไม่ไปเป็นแรงงาน ไม่เข้าสู่ขบวนการผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการค้ามนุษย์ ขณะเดียวกันยังมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 28/2559 ให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย เพื่อลดความเหลี่ยมล้ำ อย่างไรก็ตาม พบว่ายังมีบางส่วนตกหล่น ด้วยสาเหตุแตกต่างกัน

หนึ่งในนั้นคือ การไม่มีสัญชาติ ทั้งที่ผ่านมามีระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่ปี 2548 และมีมติ ครม. วันที่ 5 ก.ค. ปีเดียวกัน ออกมารองรับว่าเด็กทุกคนในไทย ต้องได้รับการศึกษาแม้ไม่มีสัญชาติไทย โดยสามารถศึกษาถึงระดับสูงสุดอย่างเสมอภาค

แต่ปัจจุบันกลับยังตกหล่น เพราะบางคนมีสัญชาติไทยแต่ยากจน บางคนมาจากลูกแรงงาน หรือบางคนเป็นเด็กอพยพลี้ภัย เมื่อกลุ่มนี้ไม่สามารถเข้าสู่ระบบได้ จึงเกิดการรวมกลุ่มจัดการศึกษา ซึ่ง “ศูนย์การเรียนรู้” ไม่ได้มีการกำหนดรูปแบบว่าต้องเป็นลักษณะใด แต่หากใช้คำว่า “โรงเรียน” ต้องมีกฎหมายจัดการรูปแบบการเรียนการสอน

ย้ำว่าที่ผ่านมาไทยมีศูนย์การเรียนรู้เกิดขึ้นจำนวนมาก อย่างชุมชนก็มีศูนย์การเรียนรู้เรื่องทำเกษตรแบบผสมผสาน ศูนย์การเรียนรู้การปลูกไหมเลี้ยงหม่อน ศูนย์การเรียนรู้บางแห่ง รัฐเองก็ส่งเสริม สนับสนุน พร้อมโฟกัสข้อห่วงใยเด็กที่หลุดจากระบบนับหมื่น อาจกลายเป็นปัญหาสังคม เพราะโตมาโดยไร้การศึกษา โดยเฉพาะลูกแรงงานที่ยังไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้ตามกฎหมายแรงงานไทย เพราะผู้ใช้แรงงานที่ถูกต้อง ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป

“เด็กกลุ่มเหล่านี้จะไปทำอะไร ผลคือนำไปสู่ขบวนการใช้แรงงานเด็ก การค้ามนุษย์ การก่ออาชญากรรม กลายเป็นปัญหาแทนที่จะเป็นกลุ่มคนที่มีคุณภาพในไทย”

พร้อมยกตัวอย่างการจัดการศึกษาที่ไทยทำได้ดีมาตลอดในพื้นที่ชายแดน ไม่ว่าจะหน่วยตำรวจตระเวนชายแดน หรือทหาร ทั้งการเปิดโรงเรียน หรือศูนย์การเรียน ให้เด็กชายขอบมีโอกาสเข้าสู่ระบบการศึกษา ซึ่งนอกจากให้การศึกษา ไทยควรส่งเสริมการศึกษาประเพณี วัฒนธรรม เพื่อสร้างความเข้าใจและการยอมรับ เพราะการเผยแพร่ความรู้ เผยแพร่ภาษาไปยังประเทศต่างๆ ส่วนตัวมองว่าทำให้เกิดความมั่นคง ยกตัวอย่าง การเปิดสอนภาษาไทย เรียนรู้วัฒนธรรมไทยในต่างประเทศ อย่างสหรัฐอเมริกา ช่วงเทศกาลสงกรานต์ก็ได้เผยแพร่ประเพณีสงกรานต์บนถนนฮอลลีวูด

“หากทำให้คนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในไทย สามารถกลมกลืน และซึมซับวัฒนธรรมควบคู่ไปกับวัฒนธรรมของชาติตนเอง จะทำให้เกิดความมั่นคงเพิ่มขึ้น ตรงกันข้ามการที่รัฐไทยพยายามผลักบุคคลเหล่านี้ให้ออกห่าง ตั้งแต่การไม่ให้ความรู้ ไม่ให้การศึกษา ไม่สนใจ จะก่อปัญหาสั่งสม”

พร้อมทิ้งท้ายฝากถึงเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ควรจะทำความเข้าใจให้มากขึ้นว่าการศึกษานำไปสู่การเปลี่ยนแปลง อยากให้คนเป็นอย่างไรก็นำการศึกษาใส่ไป อยากให้เป็นคนดีต้องให้การศึกษาที่ดี อยากให้เป็นโจรก็สอนเรื่องการลักขโมยไปให้ เด็กกลุ่มนี้เมื่ออยู่ไทยก็ควรสั่งสอนให้รักแผ่นดิน ซื่อสัตย์ อยู่ภายใต้กฎหมาย บ้านเมืองจะได้สงบ มั่นคง

“แต่หากเราไม่สั่งสอน ให้กลุ่มไปสอนกันเอง หรือไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนเลย ควบคุมก็ไม่ได้ มองว่าจะเกิดปัญหาตามมาอีกมาก และเกิดความสูญเสียความมั่นคง” นายสุรพงษ์ ระบุ.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน