การผ่าตัดปลูกถ่ายไตหมูในร่างกายคนครั้งนี้นำทีมโดยศัลยแพทย์ โรเบิร์ต มอนต์โกเมอรี่ ที่ศูนย์แพทย์ NYU Langone Health ในนิวยอร์กซิตี สหรัฐอเมริกา ไตหมูที่นำมาใช้นั้นมาจากหมูที่ได้รับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพันธุกรรมเพื่อให้เนื้อเยื่อไม่มีโมเลกุลที่กระตุ้นการปฏิเสธอย่างเฉียบพลันจากร่างกาย ส่วนผู้รับการผ่าตัดเป็นคนไข้สมองตาย ที่เริ่มมีอาการไตเสื่อม ซึ่งครอบครัวของคนไข้ยินยอมให้ทดลองรับการผ่าตัดก่อนกำหนดการปลดอุปกรณ์ช่วยพยุงชีพของเธอ นักวิจัยได้ทำงานร่วมกับนักจริยธรรมทางการแพทย์ รวมทั้งมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายและด้านศาสนาตรวจสอบ ก่อนขอตัวผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัด

ทีมแพทย์สำรวจไตหมูที่ปลูกถ่ายไว้นอกร่างกายผู้ป่วย ว่าจะพบภาวะร่างกายปฏิเสธเฉียบพลันหรือไม่

ทีมแพทย์ต่อเส้นเลือดของผู้ป่วยเข้ากับไตหมู โดยพักไตไว้นอกร่างกายของเธอเป็นเวลา 3 วัน เพื่อให้สังเกตการณ์ได้สะดวก หลังการผ่าตัดพบว่าการทำงานของไตใหม่นั้น “ดูเป็นปกติดี” ตามคำบอกเล่าของ นายแพทย์มอนต์โกเมอรี่ ไตใหม่สามารถขับถ่ายปัสสาวะในปริมาณปกติเช่นเดียวกับไตที่ได้รับการปลูกถ่ายจากคน ระดับครีเอตินีนที่ผิดปกติของคนไข้ อันเป็นสัญญาณของภาวะไตเสื่อม ก็กลับมาเป็นปกติ และไม่พบภาวะปฏิเสธอวัยวะที่รุนแรง ไม่เหมือนกรณีที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ในการปลูกถ่ายไตหมูที่ไม่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรมเข้าไปในร่างกายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ไม่ใช่มนุษย์

ตามข้อมูลขององค์กรช่วยเหลือในการค้นหาอวัยวะทดแทน United Network for Organ Sharing ตอนนี้ในสหรัฐ มีคนรอคิวการปลูกถ่ายอวัยวะอยู่ราว 107,000 คน โดยมี 90,000 คน ที่รอคิวการเปลี่ยนไต ระยะเวลาการรอคิวโดยเฉลี่ยคือ 3-5 ปี

กลุ่มนักวิจัยทำงานกันมานานหลายสิบปีเรื่องความเป็นไปได้ที่จะใช้อวัยวะสัตว์ในการผ่าตัดปลูกถ่าย แต่ไม่สำเร็จเพราะปัญหาภาวะปฏิเสธอวัยวะอย่างเฉียบพลัน ทีมของมอนต์โกเมอรี่ตั้งทฤษฎีว่า ถ้าดัดแปลงยีนของหมู โดยเอาตัวกระตุ้นภาวะปฏิเสธออกไป ซึ่งก็คือโมเลกุลของน้ำตาล หรือไกลแคน ที่มีชื่อเรียกว่า อัลฟ่า-แกล จะแก้ปัญหานี้ได้

บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ Unite Therapeutics Corp ตั้งชื่อหมูที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อนำอวัยวะมาใช้ว่า แกลเซฟ (GalSafe) และได้รับการรับรองโดยคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐ (FDA) เมื่อเดือนธนวาคม 2563 เพื่อใช้เป็นอาหารของมนุษย์ที่มีอาการแพ้เนื้อสัตว์และใช้ในการรักษาโรค แต่ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่พัฒนาจากหมูเหล่านี้ ยังคงต้องรอการรับรองจาก FDA ก่อนนำมาใช้กับคน ส่วนนักวิจัยอื่น ๆ กำลังพิจารณาว่า หมูแกลเซฟจะสามารถเป็นแหล่งอวัยวะทดแทนของมนุษย์ ตั้งแต่ลิ้นหัวใจไปจนถึงการปลูกถ่ายผิวหนังได้หรือไม่

การทดลองผ่าตัดปลูกถ่ายไตครั้งนี้อาจเป็นการปูทางสู่การทดลองในกลุ่มคนไข้ที่มีภาวะไตเสื่อมระยะสุดท้ายในอีก 1-2 ปีข้างหน้า รวมถึงหนทางแก้ไขปัญหาระยะสั้นสำหรับคนไข้ที่อาการหนัก หรืออาจใช้เป็นการรักษาแบบถาวร

อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดครั้งนี้เป็นเพียงการปลูกถ่ายครั้งเดียว และไตก็ใช้งานเพียง 3 วัน ดังนั้น การทดลองใด ๆ ในอนาคตก็อาจจะเจออุปสรรคใหม่ ๆ ที่ต้องแก้ไข นายแพทย์มอนต์โกเมอรี่กล่าวว่า ผู้เข้าร่วมการทดลองครั้งใหม่อาจเป็นกลุ่มคนไข้ที่มีโอกาสน้อยที่จะได้รับไตมนุษย์และอยู่ในสภาวะที่ไม่เหมาะกับการฟอกโลหิต