จากการศึกษาผลตอบแทนของทองคำ ในช่วงการกลับทิศนโยบายดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 1984 ถึง 2019 พบว่า หลังจากที่เฟดลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเป็นครั้งแรก ราคาทองคำจะให้ผลตอบแทนเป็นบวกเฉลี่ย 5.9% ในช่วง 12 เดือนหลังจากนั้น 

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 3 เดือนแรก หลังจากที่เฟดลดดอกเบี้ย ทองคำจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ย -0.7% ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่า แม้ในระยะสั้นหลังการลดดอกเบี้ย ราคาทองคำอาจจะมีการปรับตัวลง จากการ Sell on Fact หลังจากที่มีการเก็งกำไรมาในช่วงก่อนหน้า แต่ในระยะกลาง ทองคำยังคงเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่นโยบายการเงินเริ่มผ่อนคลายลง

ชาญณรงค์ มีชัยเจริญยิ่ง ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุนเพื่อบริหารความมั่งคั่ง บล.บัวหลวง บอกว่า

มุมมองราคาทองคำในระยะสั้นช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า

แม้ว่าราคาทองคำจะปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นในปี 2024 และมีปัจจัยสนับสนุนจากการลดดอกเบี้ยของเฟด ในช่วงหลายเดือนข้างหน้า แต่เราเห็นว่าในระยะสั้น ราคาทองคำมีความเสี่ยงที่จะผันผวนมากขึ้น จึงอาจเป็นการดีที่จะรอจังหวะการปรับฐานของราคาทองคำ ก่อนที่จะเข้าลงทุนเพิ่มเติม เหตุผลหลักมีดังนี้

1. การเก็งกำไรในตลาดทองคำเพิ่มสูงขึ้นมาก

จากข้อมูลล่าสุดของ CFTC พบว่าสถานะซื้อสุทธิ (Net Long Position) ในตลาดซื้อขายล่วงหน้าทองคำอยู่ที่ 226,700 สัญญา ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าช่วงปี 2008 ก่อนที่ราคาทองคำจะเข้าสู่วงจรการปรับฐาน 17% ในเดือนตุลาคม 2008 รวมทั้งสูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวนับตั้งแต่ปี 2006 ถึง 1.9 เท่า ซึ่งระดับการเก็งกำไรที่สูงเช่นนี้อาจนำไปสู่การขายทำกำไรในระยะสั้น 

2. การเก็งกำไรกระจายตัวไปยังตลาด OTC

นอกจากตลาดซื้อขายล่วงหน้าแล้ว ยังพบว่าการเก็งกำไรได้แพร่กระจายไปยังตลาด Over-the-Counter (OTC) ด้วย โดยในไตรมาส 2 ปี 2024 มียอดซื้อในตลาด OTC สูงถึง 329.2 ตัน เพิ่มขึ้น 53% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นถึง 385% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของการซื้อขายในตลาด OTC อาจเป็นสัญญาณของการเก็งกำไรที่มากเกินไป ซึ่งอาจนำไปสู่ความผันผวนในระยะสั้น

3. สัญญาณทางเทคนิคแสดงถึงภาวะซื้อมากเกินไป

จากการวิเคราะห์ทางเทคนิค พบว่า ดัชนี Relative Strength Index (RSI) ของกราฟราคาทองคำรายสัปดาห์เข้าสู่เขตซื้อมากเกินไป (Overbought) นอกจากนี้ ยังพบภาพ Bearish Divergence ระหว่าง RSI กับราคาทองคำ ซึ่งเป็นสัญญาณเชิงลบที่อาจนำไปสู่การปรับฐานในระยะสั้น

4. ราคาทองคำอาจเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันกับ Dollar Index

แม้สถิติระยะยาวจะชี้ว่าราคาทองคำมักเคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้ามกับ Dollar Index แต่ในระยะสั้นความสัมพันธ์ของสินทรัพย์ทั้งสองอาจเป็นไปในทิศทางเดียวกันได้ ซึ่งสังเกตได้จากค่าความสัมพันธ์แบบเคลื่อนที่ 26 สัปดาห์ (26-week Rolling Correlation) ที่บางช่วงกลับมีค่าเป็นบวก ด้วยเหตุนี้ ราคาทองคำจึงอาจไม่ได้ปรับตัวขึ้นเสมอไปในช่วงที่ Dollar Index อ่อนค่าลง (รูปที่ 4) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ทองคำมีการเก็งกำไรมากเกินไป ความซับซ้อนของความสัมพันธ์นี้ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนควรพิจารณาในการประเมินแนวโน้มราคาทองคำในระยะสั้น

แนวโน้มราคาทองคำในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า

แม้ว่าในระยะสั้นอาจมีการปรับฐาน แต่ภาพในระยะกลางถึงยาวของราคาทองคำยังคงเป็นบวก โดยมีปัจจัยสนับสนุนดังนี้

1. การลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลก

หลังจากที่หลายประเทศสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้ดีขึ้น คาดว่าธนาคารกลางหลายแห่ง จะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในไตรมาส 4 ปี 2024 ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2025 ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อราคาทองคำ ทำให้กระแสเงินลงทุนไหลเข้า Gold ETF เนื่องจากต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำจะลดลง

2. ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองโลก

สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงดำเนินอยู่ เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน และสงครามในตะวันออกกลาง ทำให้นักลงทุนยังคงต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำเพื่อกระจายความเสี่ยงในพอร์ตการลงทุน

3. การเติบโตของอุปสงค์ในเซคเตอร์เทคโนโลยี

แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ดีสำหรับการบริโภคทองคำ อันเนื่องมาจากกระแสของ AI ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการทองคำที่ใช้เป็นองค์ประกอบสำคัญในอุตสาหกรรมนี้สูงขึ้น โดยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2024 ยังคงเห็นความต้องการทองคำที่แข็งแกร่ง เติบโตถึง 11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าในระยะสั้น 3-6 เดือนข้างหน้า อาจมีการชะลอตัวบ้างเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว แต่หากมองในภาพระยะกลางถึงระยะยาวแล้ว การลงทุนในด้านเทคโนโลยีจะยังคงเป็นแรงสนับสนุนต่อการบริโภคทองคำ

4. การกระจายความเสี่ยงของธนาคารกลาง

แม้ว่าในระยะสั้นธนาคารกลางจีนอาจชะลอการซื้อทองคำ หลังจากที่ซื้อไปแล้ว 316 ตันในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม แนวโน้มในระยะยาว ธนาคารกลางจีนมีโอกาสในการเพิ่มสัดส่วนการถือครองทองคำเพื่อกระจายความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของความไม่แน่นอนทางการเมืองระหว่างประเทศที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น ประกอบกับความต้องการลดการพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐ ที่มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเหตุนี้ เราจึงคาดการณ์ว่าธนาคารกลางจีนจะกลับมาซื้อทองคำอีกครั้งในอนาคต โดยเฉพาะหลังจากที่ราคาทองคำได้ปรับฐานลงมาแล้ว

5. นวัตกรรมในตลาดทองคำ

การพัฒนาของผลิตภัณฑ์การลงทุนในทองคำแบบใหม่ ๆ เช่น สกุลเงินดิจิทัลที่มีทองคำหนุนหลัง (Gold-Backed Cryptocurrency) จะช่วยเพิ่มอุปสงค์อีกทางหนึ่ง

กลยุทธ์การลงทุนในทองคำ

แนะนำคือการทยอยสะสมทองคำเมื่อราคามีการปรับตัวลง ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า อันเนื่องมาจากสภาวะการเก็งกำไรที่มากเกินไปตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น โดยเราได้ประเมินระดับราคาที่เหมาะสมสำหรับการเข้าซื้อไว้ที่ 2,320 ดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็นการปรับฐานลงประมาณ 10% จากราคาปัจจุบัน ทั้งนี้ การทยอยซื้อ จะช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาและเพิ่มโอกาสในการได้ราคาเฉลี่ยที่ดี