เมื่อวันที่ 15 ต.ค. นพ.ไพบูลย์ เอกแสงศรี นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวถึงข้อเสนอของสมาคมฯ ที่จะเสนอประกอบการพิจารณาในการประชุมของคณะอนุกรรมการทบทวนหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาลคู่สัญญาในระบบประกันสังคม (เฉพาะกิจ) ในวันที่ 17 ต.ค.นี้ ว่า สมาคมรพ.เอกชน เคยทำหนังสือถึงรมว.แรงงาน เพื่อขอชี้แจงและช่วยเหลือปัญหานี้ไปแล้วเมื่อเดือน ก.ค. 2567 ซึ่งข้อเสนอหลักๆ เพื่อประกอบการพิจารณาของอนุกรรมการฯ เฉพาะกิจ คือ ขอให้มีการการันตีหรือประกันการจ่ายค่าบริการผู้ป่วยในขั้นต่ำที่ 1.2 หมื่นบาทต่อหน่วย หรือ AdjRW (ค่าน้ำหนักสัมพัทธ์กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมด้วยเกณฑ์วันนอน) จากเพดาน 1.5 หมื่นบาทต่อหน่วย เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่ลดลงอีกเหมือนปลายปี 2566 ที่เหลือเพียงเดือนละ 7.2 พันบาทต่อหน่วย หากไม่มีการประกันการจ่ายขั้นต่ำก็มีความเสี่ยงถูกปรับได้เรื่อยๆ ที่สำคัญควรมีการตั้งงบประมาณที่สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไป เช่น อัตราเงินเฟ้อ ไม่ใช่มีเงินเท่าไหร่ก็จ่ายเท่านั้น
นพ.ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณี รพ.เอกชนลงนาม 70 แห่งประกาศหากไม่มีการประกันการจ่ายขั้นต่ำค่าบริการผู้ป่วยในที่ 1.2 หมื่นบาท จะถอนตัวออกจากประกันสังคมนั้น ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการขู่ แต่การที่รพ.เอกชน ลงนามกว่า 70 แห่งนั้น ก็เพื่อขอความชัดเจนประกอบการพิจารณาว่า ประกันสังคมจะมีการการันตีการจ่ายขั้นต่ำค่าบริการผู้ป่วยในที่ 1.2 หมื่นบาทต่อหน่วย ซึ่ง รพ. ต้องการนำข้อมูลมาเพื่อประกอบการพิจารณาว่า จะลงนามเป็นคู่สัญญากับประกันสังคมต่อหรือไม่ ไม่ใช่เป็นการขู่แต่อย่างใด นอกจากนี้ ยังอยากให้ทาง สปส. มีการพิจารณาปรับอัตราค่าเหมาจ่ายรายหัวในทุกหมวดให้สอดคล้องกับค่าเงินเฟ้อของประเทศ อย่างไรก็ตาม ไม่ถึงขั้นต้องปรับระบบสุขภาพรวม 3 กองทุน เพราะที่มาของเงินแต่ละกองทุนแตกต่างกัน แต่สิ่งสำคัญคือตั้งงบประมาณที่สอดคล้องกับความเป็นจริงก็เหมาะสม
ด้าน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ที่ผ่านมามีข้อสังเกตของ รพ.เอกชนเยอะ แต่ข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นไปตามนั้น แต่เพื่อประโยชน์ในการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ที่เป็นธรรม เท่าเทียม ทั้งรัฐและเอกชน ตนจึงตั้งอนุกรรมการเฉพาะกิจมาพิจารณาเรื่องนี้ภายใน 90 วัน ว่าอัตราที่จ่ายอยู่ในปัจจุบันนั้นเพียงพอหรือไม่ เป็นธรรมหรือไม่ เหมาะสมหรือไม่ สำหรับที่นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ระบุว่า การันตีค่าดีอาร์จี ที่ 1.2 หมื่นบาท ตลอดทั้งปี ที่จริงที่ผ่านมา คณะกรรมการประกันสังคม และคณะกรรมการการแพทย์ ได้การันตรี 1.2 หมื่นบาททั้งปีมาแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว แต่ในช่วงโควิด ปรากฏว่า มีการเบิกจ่ายค่อนข้างเยอะ ทำให้เงินกองทุนดังกล่าวลดลง ทำให้ช่วงปลายปี 2566 ราวๆ เดือน ต.ค.-ธ.ค. เหลืออยู่ 7.2 พันบาทต่อหน่วย อย่างไรก็ตาม ที่เรียกร้อง 1.5 หมื่นบาทนั้น ก็ต้องดูที่ความเหมาะสม อยู่ที่คณะอนุกรรมการจะพิจารณาอย่างไร แล้วเสนอมาที่คณะกรรมการการแพทย์ สปส. ว่าเป็นธรรมเหมาะสมหรือไม่ ทั้งในส่วนของโรงพยาบาลรัฐ และเอกชน.