เมื่อวันที่ 15 ต.ค. นายทรงพล พันธุ์วิชาติกุล พร้อมด้วยองค์คณะผู้พิพากษาศาลจังหวัดนราธิวาส ที่รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลภาค 9 ออกนั่งบัลลังก์ ตามที่ศาลนัดสอบคำให้การและติดตามจับกุมจำเลยคดีตากใบ ซึ่งผ่านไป 2 ชั่วโมง จำเลยทั้ง 7 คนไม่ปรากฏตัวจำเลยมาศาล และยังไม่ปรากฏว่ามีการติดตามจับกุมได้ ทำให้ยังไม่สามารถดำเนินการพิจารณาคดีใหม่ได้ ศาลจึงยังไม่จำหน่ายคดี และนัดการพิจารณาคดีในวันที่ 28 ตุลาคม 2567 โดยระหว่างนี้ จำเลยสามารถมามอบตัว รวมถึงตำรวจยังติดตามจับกุมให้ได้ภายในอายุความ 20 ปี ที่จะครบในเที่ยงคืนของวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ถ้าหากจำเลยคนใดคนหนึ่งมามอบตัว หรือมีการติดตามจับกุมได้ทันอายุความ ศาลจะพิจารณาในการสอบคำให้การตามขั้นตอนได้ในวันที่ 28 ตุลาคม 2567 นี้
โดยศาลจังหวัดนราธิวาส อธิบายเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 28 ตุลาคม 2567 เป็นการนัดประชุมคดี พิจารณาคดีมีคำสั่งและคำพิพากษาในคดีนี้ หลังคดีหมดอายุความในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 แต่หากระหว่างนี้มีจำเลยมามอบตัว หรือถูกจับกุมได้ ไม่ว่าคนใดคนหนึ่งก็จะสามารถเริ่มกระบวนการพิจารณาคดีได้ แต่หากไม่มาในวันที่ 28 ตุลาคม 2567 ศาลก็จะมีคำสั่งต่อคดีนี้เป็นที่สิ้นสุด
ทั้งนี้ ศาลจังหวัดนราธิวาส ได้รายงานหมายจับ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 หลังจากทำหนังสือสอบถามไปยังสภาผู้แทนราษฎร ผ่านสำนักงานศาลยุติธรรม ได้รับคำยืนยันว่า สส.ไม่ได้รับความคุ้มกันในระหว่างสมัยการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญ 125 แล้ว ศาลจึงออกหมายจับได้ และเนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่มาตามนัดศาลเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 โดยไม่อ้างเหตุขัดข้อง และพบว่าได้ลาการประชุมสภาผู้แทนราษฎร จึงมีพฤติการณ์ในการหลบหนี ศาลจึงออกหมายจับ
สำหรับการนัดสอบคำให้การวันนี้ ศาลจังหวัดนราธิวาส โดยอธิบดีศาลภาค 9 เปิดให้ญาติ ในฐานะฝ่ายโจทก์ รวมถึงผู้สังเกตการณ์และสื่อมวลชน เข้ารับฟังในห้องพิจารณาคดี และอนุญาตให้จดบันทึกได้ เพื่อให้สื่อมวลชนได้รายงานข่าวที่ถูกต้องเพราะเห็นเป็นคดีสำคัญ รวมทั้งได้อนุญาตให้ นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ได้เข้าสังเกตการณ์ในครั้งนี้ด้วย
ด้าน นายรัษฎา มนูรัษฎา เปิดเผยว่า การติดตามจับกุมจำเลยตามหมายจับได้หรือไม่ หรือจะมามอบตัวต่อสู้คดี ซึ่งเป็นโอกาสสุดท้าย โอกาสที่คุณจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แล้วก็พิสูจน์คำว่าเหตุการณ์มันเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ได้ทำการครบถ้วนถูกต้องแล้วอย่างไร วันนี้ศาลจึงเลื่อนคดีไปนัดพร้อมเพื่อประชุมคดี หรือฟังคำสั่งคำพิพากษา ในวันที่ 28 ตุลาคม 2567 แต่ไม่มีจำเลย 7 คน มาที่ศาลได้ออกหมายจับไว้ มาศาลเลยสักคน มีแต่เพียงทนายความ จำเลยที่ 8 ที่ 9 ซึ่งเป็นพนักงานอัยการแก้ต่าง ว่าต่างให้จำเลยที่ 8 ที่ 9 แถลงต่อศาลว่าไม่ได้รับการติดต่อจากจำเลยที่ 8 ที่ 9
ศาลสอบถามว่า ทนายโจทก์หรือผู้แทนโจทก์จะแถลงอะไร ศาลจะช่วยบันทึกไว้ให้ มีคำแถลงทนายความฝ่ายโจทก์ ที่ร้องขอให้ศาลออกหมายเรียก เอกสารสำนวนสอบสวนของสถานีตำรวจภูธรหนองจิก 4 แฟ้ม ซึ่งเคยส่งไปทางอัยการ แล้วศาลหมายเรียกแล้วแต่ไม่ส่งมา เรายากจะให้สำนวนคดี ซึ่งเป็นการสอบปากคำที่เกี่ยวข้องได้ปรากฏไว้ในสำนวนคดีของศาล
ด้านนายมูฮัมหมัด ซาวาวี อูเซ็ง น้องชายผู้เสียชีวิต กล่าวว่า รู้สึกเหมือนกับว่าไม่ได้รับความกระจ่าง เกิดข้อสงสัยในกระบวนการเพราะศาลได้ออกหมายเรียกและออกหมายจับไปแล้ว แต่ ณ เวลานี้ยังจับจำเลยทั้ง 2 สำนวนคดีไม่ได้สักคน ซึ่งผมรู้สึกว่าถ้ายังไม่ดำเนินการ ยังเป็นแบบนี้ ก็รู้สึกหมดศรัทธากับกระบวนการยุติธรรม ถึงแม้ว่าจะมีกระบวนการแต่ได้เห็นและได้ฟังแล้วยังรู้สึกไม่สบายใจ และไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม แล้วยิ่งใกล้จะหมดอายุความแล้ว เลยเกิดคำถามว่าแม้ว่าจะไม่ใช่ฆาตกรเพราะคดียังไม่จบ แต่จำเลยทั้ง 15 คนยังจับมาดำเนินคดีไม่ได้ แล้วเราจะสู้ในทางไหนอีก เพราะเราในฐานะโจทก์ของญาติผู้เสียชีวิตที่ได้รับความเจ็บปวด ได้รับความเสียหายแค่ต้องการความยุติธรรม ให้เจ้าหน้าที่มาชี้แจงสู้ในกระบวนการยุติธรรม ผิดหรือไม่ผิดก็มาสู้ในกระบวนการยุติธรรม.