ปัจจุบันจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น การดูแลสุขภาพเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจและมีความสำคัญ ซึ่งผู้สูงอายุจะต้องทำให้ร่างกายตัวเองแข็งแรงเพื่อที่จะได้มีอายุยื่นยาว “เดลินิวส์” ได้นำบทความดีๆ จากคณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามา เกี่ยวกับ ภาวะขาดน้ำผู้สูงอายุต้องระวัง
โดยผศ. พญ.อรพิชญา ศรีวรรโณภาส สาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ภาวะขาดน้ำ (dehydration) คือ ภาวะที่เสียสมดุลของน้ำในร่างกาย โดยเปรียบเทียบระหว่างปริมาณน้ำที่ร่างกายได้รับเข้า กับการขับน้ำออกจากร่างกาย ผลกระทบจากการขาดน้ำในร่างกายจะทำให้ ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น มีอาการคอแห้ง หิวน้ำ และปัสสาวะออกมาเป็นสีเข้ม โดยภาวะขาดน้ำสามารถเกิดขึ้นได้ทุกวัย แต่ควรระมัดระวังและดูแลเป็นพิเศษในวัยผู้สูงอายุ
ทำไมจึงต้องระมัดระวังภาวะขาดน้ำในผู้สูงอายุ ? เนื่องจากผู้สูงอายุเป็นวัยที่สภาพร่างกายเริ่มเสื่อมถอยลง ทำให้อาการและอาการแสดงของภาวะขาดน้ำไม่ชัดเจนเหมือนในวัยผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุมักจะมีความรู้สึกกระหายน้ำลดลงหรือไม่มีเลยทั้งที่มีภาวะขาดน้ำเกิดขึ้นในร่างกาย รวมถึงสภาพร่างกายที่มีการเปลี่ยนแปลงจากโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ในวัยสูงอายุ เช่น ภาวะสมองเสื่อมทำให้ความสามารถในการดูแลตนเองลดลง อาจลืมดื่มน้ำระหว่างวัน ทำให้ไม่ได้รับน้ำได้อย่างเพียงพอ รวมไปถึงการได้รับยารักษาโรคประจำตัวต่าง ๆ เช่น ยาขับปัสสาวะ อาจทำให้ร่างกายเกิดการเสียน้ำมากกว่าปกติได้
สาเหตุของภาวะขาดน้ำในผู้สูงอายุ
• ดื่มน้ำน้อยเกินไป
• ปัสสาวะออกมากเกินไป
• การสูญเสียน้ำจากโรคบางอย่าง เช่น ผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ ที่มีอาการอาเจียนและท้องเสีย
• การสูญเสียน้ำผ่านทางบาดแผลที่ผิวหนัง เช่น แผลจากไฟไหม้ หรือผู้ป่วยที่มี การหลุดลอกของผิวหนังปริมาณมาก
• เหงื่อออกมากเกินไป เช่น ผู้ป่วยที่เป็นไข้หรือผู้ที่ออกกำลังกายกลางแจ้งเป็นเวลานาน ๆ
อาการของภาวะขาดน้ำ
อาการที่ไม่รุนแรง คือ หิวน้ำมาก ตาแห้ง ปากแห้ง ผิวแห้ง วิงเวียนศรีษะ อ่อนเพลีย ปวดศรีษะ
อาการที่มีความรุนแรง ความดันเลือดต่ำ หอบ หายใจเร็ว และหัวใจเต้นเร็ว ผิวหนังแห้งขาดความยืดหยุ่น ซึมสับสน สูญเสียการรับรู้ ปัสสาวะสีเข้ม ปัสสาวะออกน้อยผิดปกติ
ภาวะแทรกซ้อนจากภาวะขาดน้ำ
• โรคลมแดด และโรคตะคริวแดด
• เกิดอาการช็อก เนื่องจากความดันเลือดต่ำ และออกซิเจนในร่างกายลดต่ำลง
• เกิดอาการชัก จากเกลือแร่ผิดปกติ ทำให้กล้ามเนื้อมีการหดตัว
• หมดสติ
• ไตมีความผิดปกติ เช่น ภาวะไตวายเฉียบพลัน
เวลาไหนไม่ควรดื่มน้ำเยอะ ?
• ใกล้ถึงเวลารับประทานอาหาร
• หลังรับประทานอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาหารมื้อเย็น
• ก่อนนอน
ควรดื่มน้ำเวลาไหน ?
• ตื่นนอน
• ทยอยดื่มเรื่อย ๆ ในระหว่างวัน โดยไม่ต้องรอให้รู้สึกหิวน้ำ
การรักษาภาวะขาดน้ำด้วยตนเอง
• ให้ดื่มน้ำสะอาด และดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่ที่เหมาะสม
• หยุดทำกิจกรรมที่จะทำให้มีการสูญเสียน้ำเพิ่มขึ้น และหาพื้นที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวกในการพักผ่อน
• ใส่เสื้อผ้าน้อยชิ้น ให้สบายตัว
• ไม่ควรดื่มน้ำอัดลม หรือน้ำที่มีน้ำตาลสูง
การป้องกันภาวะขาดน้ำ
• ในกรณีที่ไม่มีข้อบ่งชี้ของการจำกัดน้ำ หากออกกำลังกายกลางแจ้ง หรือทำกิจกรรมหนัก ๆ ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8-12 แก้ว
• ใส่เสื้อผ้าสบาย ๆ สามารถระบายความร้อนได้ดี
• พักผ่อนในสถานที่ที่มีอากาศเย็นสบายและถ่ายเท ความร้อนได้สะดวก
• หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
• หากมีอาการวิงเวียนศีรษะ อุณหภูมิในร่างกายร้อนมาก หรือเหนื่อยผิดปกติ ในขณะทำกิจกรรมหนัก ๆ หรือออกกำลังกาย ควรหยุดพักทำกิจกรรมนั้น ๆ
ภาวะขาดน้ำเป็นอีกหนึ่งอาการที่ผู้สูงอายุรวมไปถึงผู้ดูแลต้องคอยระมัดระวัง และหมั่นสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดในช่วงที่มีสภาพอากาศร้อนจัด หากมีอาการผิดปกติไม่สามารถรักษาให้ดีขึ้นด้วยตัวเองควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรักษาต่อไป
ในช่วงฤดูร้อน ผู้สูงอายุควรระมัดระวังภาวะขาดน้ำ โดยการจัดหาน้ำดื่มไม่ให้ห่างตัว หาที่พักอากาศเย็นสบาย จัดหาเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี และผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ กาแฟ น้ำหวาน อีกทั้งหากพบว่าผู้สูงอายุมีอาการผิดปกติ เช่น เป็นตะคริว อ่อนเพลีย ชีพจรเต้นเร็ว ควรรีบพาไปพบแพทย์โดยทันที.