หลังจากที่ยื้อกันอยู่นาน ในวันที่ 17 ต.ค.ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรถึงได้พิจารณารายงานของ กมธ.วิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งกมธ. ที่มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กมธ. พิจารณาเสร็จแล้ว
นายชูศักดิ์ กล่าวถึงรายงานตอนหนึ่งว่า รายงาน กมธ. เป็นการศึกษาแนวทางการตรากฎหมาย ไม่ใช่การพิจารณาหรือยกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มีข้อเสนอแนะแนวทางหากมีการยกร่างกฎหมายว่าควรนิรโทษการกระทำอะไร เสนอแนะแนวทางอื่นๆ เพื่อยุติความขัดแย้งและสร้างความเข้าใจอันดีของสังคมไทย เช่น ขอพระราชทานอภัยโทษ แนวทางล้างมลทิน การชะลอการฟ้อง สั่งไม่ฟ้องคดีที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ และตรา พ.ร.บ.ที่มีเงื่อนไข
กมธ. เห็นว่า ควรกำหนดขอบเขตการนิรโทษกรรม ตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน การกระทำที่ควรได้รับนิรโทษกรรม เน้นมูลเหตุที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง โดย กมธ.แยกในคดีหลัก เช่น ฐานะเป็นกบฏ การกระทำในคดีรอง เช่น ความผิดต่อเจ้าพนักงาน และแยกคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองออกมาพิจารณาเฉพาะ การนิรโทษกรรมจะมีคณะกรรมการพิจารณา เนื่องจากช่วงเวลาของเหตุการณ์ซึ่งมีคดีที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก เมื่อมีคณะกรรมการพิจารณาจะทำให้การนิรโทษกรรมถูกต้องเป็นธรรม
“ข้อเสนอของ กมธ.อาทิ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา 110 และ มาตรา 112 ยังคงเป็นประเด็นที่อ่อนไหวและอาจนำไปสู่ความขัดแย้งได้ ข้อสังเกตของ กมธ.ไม่ได้บังคับหรือผูกมัด ครม.ที่จะดำเนินการตามที่เสนอ ที่ประชุมควรรับทราบรายงาน เพื่อนำผลการศึกษาไปพิจารณาประกอบกับการยกร่างกฎหมายในอนาคต”นายชูศักดิ์ กล่าว
จากที่ รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าว คือ กมธ.จะให้ข้อเสนอกว้างๆ ส่วนการดำเนินการเป็นเรื่องของ ครม. ซึ่งไม่ผูกมัด แสดงว่า “ครม.จะดำเนินการหรือไม่ก็ได้ตามแนวทางที่เสนอมา” ในส่วนของกฎหมายนั้น นายชัยธวัช ตุลาธน อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะ กมธ.ให้สัมภาษณ์ว่า “มีร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม รออยู่อีก 4 ฉบับ คือฉบับของอดีตพรรคก้าวไกล ฉบับที่พรรคประชาธิปัตย์และพรรคครูไทยเพื่อประชาชนเสนอร่วมกัน ฉบับของพรรครวมไทยสร้างชาติ ( รทสช.) และฉบับของภาคประชาชน ” เท่ากับว่า ถ้า ครม.ไม่ออกกฎหมาย ก็ยังมีกฎหมายนิรโทษกรรมในสภา แต่พรรคการเมืองหลายพรรค ไม่เอาการนิรโทษกรรมที่เหมารวมคดี ม.112 ด้วย จึงต้องรอดูโฉมหน้าของการนิรโทษกรรมคดีการเมืองที่จะเกิดขึ้นต่อไป
เมื่อเปิดให้ สส.อภิปราย สส. พรรคประชาชน(ปชน.) กล่าวสนับสนุนให้นิรโทษกรรม รวมถึง คดี ม. 112 ด้วย ขณะที่ฝ่ายรัฐบาล ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม ม.110 และ ม.112 นายนิกร จำนง เลขานุการ กมธ. ชี้แจงว่า กมธ.ไม่ได้มีข้อสรุปว่าจะนิรโทษกรรมหรือไม่นิรโทษกรรมสำหรับผู้กระทำความผิดตาม ม.110 และ ม.112 เพียงแค่ศึกษาว่ามีข้อดี ข้อเสียอย่างไร เพราะใน กมธ.ยังมีความเห็นต่างอย่างมีนัยยะสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ เชื่อว่าหากมีการเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมแล้วรวมความผิด ม.112 ด้วย จะไม่ผ่านและถูกร้องว่าขัดรัฐธรรมนูญ
ภายหลังจากที่สส.อภิปรายแสดงความคิดเห็นครบทุกพรรคแล้ว ฝ่ายรัฐบาลทั้งพรรคภูมิใจไทยและพรรคเพื่อไทยแสดงความพร้อมที่จะลงมติรับรองหรือไม่รับรองรายงาน กมธ.จะขอชี้แจงต่อ แต่นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ประธานในที่ประชุมสั่งปิดประชุมแม้จะมีเสียงทักท้วง ทำให้ญัตติด่วนด้วยวาจาขอให้สภาศึกษาปัญหาและการแก้ไขกฎหมายเพื่อป้องกันธุรกิจอันเข้าลักษณะการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน หรือแชร์ลูกโซ่ ที่ต่อคิวอยู่ ต้องเลื่อนออกไปพิจารณาในสัปดาห์หน้าด้วย
การเมืองอื่น ๆ ที่น่าสนใจคือ “นายกฯอิ๊งค์” น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมหารือข้อราชการร่วมกับคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ชุดที่มีนายพันศักดิ์ วิญรัตน์ เป็นประธานที่ปรึกษา ซึ่งเมื่อวันที่ 16 ต.ค. นายกฯอิ๊งค์ได้แถลงว่า จะต้องมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมว่า ได้หารือในหลายๆ เรื่อง บางเรื่องเป็นการภายในที่ไม่ขอเปิดเผย การประชุมครั้งนี้ เรื่องที่สำคัญคือการหาช่องทางสร้างรายได้ให้กับประเทศ คณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรีจะเชิญหน่วยงานต่างๆ มาให้ข้อมูลต่อไป นโยบายที่มีประโยชน์ต่อประชาชนยังเป็นเปิดไม่ได้ว่ามีเรื่องอะไรบ้าง ให้ได้ข้อสรุปก่อน
นายกฯ อิ๊งค์ ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้นัดหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล และแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลรับประทานอาหารเย็นร่วมกันในวันที่ 21 ต.ค.เวลา 18.00 น.ที่โรงแรมโรสวูด กรุงเทพ ถนนเพลินจิต เพื่อหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในการทำงานที่แต่ละพรรคติดขัด รวมถึงหยิบยกประเด็นทางการเมืองในทุกเรื่องขึ้นมาหารือ และประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย
วันเดียวกัน ในช่วงเช้า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เดินทางมารายงานตัวที่ศาลอาญา รัชดา ในคดีที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญายื่นฟ้องความผิดตาม ป.อาญา ม. 112 กรณีอดีตนายกฯ ให้สัมภาษณ์กับเดอะโชซอนมีเดีย (The ChosunMedia) ของเกาหลีใต้เมื่อปี2558 มีเนื้อหาอาจจะพาดพิงสถาบันเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.
ในการรายงานตัวครั้งนี้ นายทักษิณไม่ได้มีการยื่นคำร้องขอเดินทางออกนอกประเทศ หลังก่อนหน้านี้มีข่าวลือว่าเตรียมจะยื่นคำร้องขอออกนอกประเทศอีกครั้ง การมารายงานตัวไม่ได้มีการเเจ้งล่วงหน้า ภายหลังรายงานตัวประมาณ 5-10 นาที นายทักษิณก็เดินทางกลับทันที กำหนดนัดสืบพยานโจทก์ครั้งเเรกของคดีนายทักษิณจะเป็นวันที่ 1 ก.ค.2568
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณากระทู้ถามทั่วไป ของนายเชตวัน เตือประโคน สส.ปทุมธานี พรรคประชาชน ( ปชน.) ถามนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม เรื่องปัญหาการใช้ที่ดินไม่เกิดประโยชน์ คุ้มค่า กรณี สนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ของกองทัพอากาศ นายภูมิธรรม ชี้แจงว่า กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจของกองทัพไปอยู่ในความดูแลของหน่วยงานอื่นหรือย้ายไปสถานที่อื่นที่เหมาะสม ของสภา ที่มีนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ เป็นประธาน กมธ. คุยกันอยู่
“เรื่องนี้ไม่สามารถจัดการได้ทันที เพราะไม่ใช่ที่ดินปกติ เป็นเรื่องของความมั่นคง อากาศยานลงจอดฉุกเฉิน ควบคุมระบบป้องกันภัยเครื่องบินพาณิชย์ รวมถึงความมั่นคง ปลอดภัยของบุคคลระดับวีวีไอพี และวีไอพี หากผลการศึกษาของ กมธ.วิสามัญที่ชัดเจน ศึกษาแล้วไม่มีผลกระทบจริงจะปรับเปลี่ยนได้ อย่าคิดอะไรด้านเดียว หรือเอาแต่ใจตัวเอง รัฐบาลไม่มีปัญหาหาก กมธ.ระบุว่า การโอนย้ายที่ดินไปหน่วยงานอื่นไม่มีผลกระทบ”รองนายกฯอ้วน กล่าว
“ทีมข่าวการเมือง”