เรียกได้ว่าเป็นกระแสที่กลายเป็นไวรัลอย่างมากอยู่ในขณะนี้ นาทีนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก พระนักเทศน์ชื่อดัง “พระเมธีวชิโรดม” หรือ “พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี” เจ้าของนามปากกา “ว.วชิรเมธี” ผู้สร้างกระแส “ธรรมะอินเทรนด์” ทำให้ธรรมะเป็นที่สนใจกว้างขวาง
สำหรับพระนักเทศน์ชื่อดังอย่าง “พระเมธีวชิโรดม” หรือ “พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี” ชื่อเดิมว่า “วุฒิชัย บุญถึง” เกิดเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2516 ภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านครึ่งใต้ ตำบลครึ่ง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ซึ่งบิดามารดาเป็นเกษตรกร และจะพาท่านเข้าวัดตั้งแต่ยังวัยเด็ก
เมื่อจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ท่านก็ได้ขออนุญาตมารดาบวชเป็นสามเณรที่วัดครึ่งใต้ แตกต่างจากเพื่อนๆ ในวัยเดียวกันที่มุ่งเรียนต่อในชั้นมัธยมศึกษา เมื่อบวชเป็นสามเณรแล้ว ท่านตั้งใจศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมแผนกนักธรรม จนจบนักธรรมชั้นเอก แล้วย้ายมาพำนักอยู่ที่วัดพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี จนสำเร็จการศึกษาเปรียญธรรม 6 ประโยค
ต่อมา เมื่ออายุครบ 21 ปี ท่านจึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดบ้านเกิด และย้ายมาพำนักที่วัดเบญจมบพิตร ในกรุงเทพมหานคร เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีต่อจนสำเร็จ เป็นเปรียญธรรม 9 ประโยค (รุ่นเดียวกับ พันโทสุธี สุขสากล) ซึ่งถือเป็นการศึกษาขั้นสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย ด้านการศึกษาทางโลกนั้น ท่านสำเร็จการศึกษา “ศึกษาศาสตรบัณฑิต” (สังคม-มัธยมศึกษา) จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ “พุทธศาสตรมหาบัณฑิต” จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ปัจจุบันท่านได้รับเชิญให้เป็น อาจารย์สอนนักศึกษาระดับปริญญาโทที่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพมหานคร นอกจากนั้นก็ยังรับเชิญเป็นวิทยากร บรรยายวิชาการทางพระพุทธศาสนาให้กับหน่วยงานต่าง ๆ อีกมากมาย ในแง่จริยวัตรส่วนตัวนั้น นอกจากท่านจะเป็นพระ นักวิชาการ พระนักคิด นักเขียน แล้วท่านก็ยังสนใจฝึกสมาธิภาวนาอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่าสิบปี
ผลงานหนังสือของท่านมีเกือบ 20 เล่ม ผลงานซึ่งเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป อาทิ ธรรมะติดปีก, ธรรมะหลับสบาย, ธรรมะดับร้อน, ธรรมะบันดาล, ธรรมะรับอรุณ, ธรรมะราตรี, ปรัชญาหน้ากุฏิ, ปรัชญาหน้าบ้าน, DNA ทางวิญญาณ, ตายแล้ว เกิดใหม่ตามนัยพระพุทธศาสนา และท่านยังได้เขียนบทความลงในนิตยสารหลายฉบับ เช่น เนชั่นสุดสัปดาห์, ชีวจิต, หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจต่อไป อีกด้วย
ขอบคุณข้อมูล : wikipedia และพระเมธีวชิโรดม-ว.วชิรเมธี ( Vvajiramedhi)