เมื่อวันที่ 22 ต.ค. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานจากอิทธิพลร่องมรสุมพาดผ่านภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศลาวตอนบนและประเทศเวียดนามตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ตั้งแต่วันที่ 17-19 ต.ค. 64 ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง ในพื้นที่ 10  จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สระแก้ว ชลบุรี สมุทรปราการ นครปฐม และกาญจนบุรี รวม 43 อำเภอ 157 ตำบล 724 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 15,205 ครัวเรือน ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 4 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 6 จังหวัด รวม 30 อำเภอ 135 ตำบล 647 หมู่บ้าน 13,134 ครัวเรือน ดังนี้

1. ชัยภูมิ น้ำท่วมในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ อ.คอนสวรรค์ อ.คอนสาร อ.บ้านเขว้า อ.ภูเขียว อ.บ้านแท่น อ.จัตุรัส อ.เกษตรสมบูรณ์ อ.เนินสง่า และอ.เมืองชัยภูมิ ระดับน้ำทรงตัว

2. นครราชสีมา น้ำท่วมในพื้นที่ 10 อำเภอ ได้แก่ อ.โนนสูง อ.สีคิ้ว อำเภอพิมาย อ.สูงเนิน อ.ปักธงชัย อ.คง อ.เมืองนครราชสีมา อ.เมืองยาง อ.ประทาย และอ.โนนไทย ระดับน้ำทรงตัว

3. บุรีรัมย์ น้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.นางรอง อ.เมืองบุรีรัมย์ และอ.เฉลิมพระเกียรติ ระดับน้ำลดลง

4. ศรีสะเกษ น้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.ภูสิงห์ อ.ขุนหาญ และอ.ขุขันธ์ ระดับน้ำทรงตัว

5. นครปฐม น้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.บางเลน อ.นครชัยศรี และอ.สามพราน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น

6. สระแก้ว น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองสระแก้ว และอ.วัฒนานคร ระดับน้ำลดลง

ส่วนอิทธิพลพายุคมปาซุ เมื่อวันที่ 15-17 ต.ค. 64 ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ ตาก เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ ลพบุรี ปราจีนบุรี และนครนายก รวม 12 อำเภอ 33 ตำบล 112 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,326 ครัวเรือน สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 4 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 2 จังหวัด 5 อำเภอ 9 ตำบล 28 หมู่บ้าน 407 ครัวเรือน ดังนี้

1. ลพบุรี น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.ชัยบาดาล และอ.บ้านหมี่ ระดับน้ำลดลง

2. ปราจีนบุรี น้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองปราจีนบุรี อ.ประจันตคาม และอ.กบินทร์บุรี ระดับน้ำลดลง

ในส่วนของผลกระทบจากพายุเตี้ยนหมู่ เมื่อวันที่ 23 ก.ย.-7 ต.ค. 2564 ทำให้มีพื้นที่ประสบอุทกภัย รวม 33 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร เลย ขอนแก่น มหาสารคาม ชัยภูมิ ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนครปฐม รวม 226 อำเภอ 1,206 ตำบล 8,265 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 339,346 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 17 ราย ได้แก่ ลพบุรี 11 ราย เพชรบูรณ์ 2 ราย ชัยนาท 1 ราย และนครสวรรค์ 3 ราย ปัจจุบัน สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 27 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 6 จังหวัด รวม 24 อำเภอ 219 ตำบล 1,067 หมู่บ้าน 67,362 ครัวเรือน ดังนี้

1. มหาสารคาม น้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.โกสุมพิสัย อ.กันทรวิชัย และอ.เมืองมหาสารคาม ระดับน้ำทรงตัว

2. สุพรรณบุรี น้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.บางปลาม้า และอ.สองพี่น้อง ระดับน้ำลดลง

3. สิงห์บุรี น้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.อินทร์บุรี อ.เมืองสิงห์บุรี และอ.พรหมบุรี ระดับน้ำเพิ่มขึ้น

4. อ่างทอง ยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองอ่างทอง อ.ไชโย อ.ป่าโมก และอ.วิเศษชัยชาญ ระดับน้ำลดลง

5. พระนครศรีอยุธยา น้ำท่วมขังในในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ อ.ผักไห่ อ.เสนา อ.บางบาล อ.พระนครศรีอยุธยา อ.บางไทร อ.บางปะอิน อ.มหาราช อ.บางปะหัน และอ.บางซ้าย ระดับน้ำทรงตัว

6. ปทุมธานี น้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองปทุมธานี และอ.สามโคก ระดับน้ำลดลง

ภาพรวมสถานการณ์คลี่คลายในหลายพื้นที่ แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ อยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำ ซึ่ง ปภ. ได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยสำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง.