น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้ง ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ตามการเสนอของนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะประธานกรรมการอำนวยการ สอวช. ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี และอาจได้รับแต่งตั้งใหม่อีกได้ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2567
ทั้งนี้ สอวช. เป็นหน่วยงานนโยบายด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ที่สังกัดกระทรวง อว. มีหน้าที่ในการวางทิศทางการขับเคลื่อนนโยบายด้านดังกล่าวของประเทศ รวมทั้งเป็นฝ่ายเลขานุการของสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ที่เป็น superboard ด้าน อววน. โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานโดยตำแหน่ง
ดร.สุรชัย มีพื้นฐานการศึกษาทางด้านวิศวกรรมโยธา พลังงานและสิ่งแวดล้อม เริ่มทำงานกับ สอวช. ในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญนโยบายอาวุโส ด้านงานบริหาร เคยดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและการจัดการนโยบาย ผู้อำนวยการฝ่ายพลังงานและสิ่งแวดล้อม ผู้อำนวยการอาวุโสศูนย์ข้อมูลและการคาดการณ์เทคโนโลยี ผู้ช่วยผู้อำนวยการ และรองผู้อำนวยการ สอวช. สังกัดกลุ่มยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ดร.สุรชัย ยังมีบทบาทสำคัญในการดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการบริหารศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค หรือ APEC Center for Technology Foresight (APEC CTF) APEC CTF เป็นศูนย์ด้านการคาดการณ์อนาคตในระดับภูมิภาคแห่งแรกของโลก และเป็นศูนย์เดียวของเอเปคที่ตั้งในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 นอกจากนี้ ดร.สุรชัย ยังเป็นผู้แทนเจรจาหลักประเทศไทยในการประชุม COP ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติ โดยรับผิดชอบในประเด็นการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีมากว่า 15 ปี และยังเป็นผู้ประสานงานหลักของกลไกถ่ายทอดเทคโนโลยีภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) อีกด้วย
ดร.สุรชัย ได้วางภาพอนาคตให้ สอวช. เป็นหน่วยงานนโยบายที่ชี้ทิศทางด้าน อววน. ของประเทศ เป็น Strategic Intelligence Unit ที่มีความสำคัญต่อรัฐบาล มีความน่าเชื่อถือและมีอิสระทางวิชาการ โดยวาง 6 แนวทางขับเคลื่อนไว้ ดังนี้ 1. การใช้ อววน. ทำให้ประเทศไทยหลุดออกจากกับดักรายได้ปานกลาง และยกระดับให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ผ่านการขับเคลื่อนประเทศด้วยเศรษฐกิจนวัตกรรม และการทำให้กระทรวง อว. เป็นกระทรวงเศรษฐกิจ การส่งเสริม SME ให้เข้มแข็ง เพื่อเป็นกลไกช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน 2. การทำให้ อววน. ไทย ก้าวไปสู่ระดับ World Class ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ โดยเชื่อมโยงกับบริบทประเทศ
3. การสนับสนุนระบบอุดมศึกษา ด้วยการยึดหลักเสรีภาพทางวิชาการและความเป็นอิสระของมหาวิทยาลัย และสนับสนุนนโยบายการพัฒนาระบบอุดมศึกษาผ่านการทำงานกับกลไกต่าง ๆ มีการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์ประเทศและตรงกับตลาดแรงงาน มีหลักสูตร Degree และ Non-Degree ที่ทันสมัย มีการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) มี Experiential Learning Education โดยให้ภาคเอกชนมามีส่วนร่วมในการสอนในมหาวิทยาลัย สร้างให้เกิด Entrepreneurial Education ให้นิสิต นักศึกษา เป็นสตาร์ทอัพหรือผู้ประกอบการใหม่ นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสนับสนุนการเรียนการสอน เช่น Online Learning Platform, AI, Metaverse ในมหาวิทยาลัย การดึงดูดให้นักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียนประเทศไทย เพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมการศึกษาที่มีคุณภาพ 4. การสนับสนุนงานวิจัยและโครงสร้างพื้นฐาน ให้ความสำคัญกับองค์ความรู้ในทุก ๆ ศาสตร์ สนับสนุนงานวิจัยขั้นพื้นฐานควบคู่งานวิจัยขั้นแนวหน้า เพื่อเป็นรากฐานที่สำคัญของการวิจัยของประเทศ 5. สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยสนับสนุนการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีตลอดทั้ง Technology Cycle ครอบคลุม Research, Development, Demonstration, Deployment, Diffusion (RDDD&D) และ 6. การบริหารจัดการระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.)
ดร.สุรชัย ยังให้ความสำคัญต่อการพัฒนาองค์กร โดยได้เสนอแนวทาง Lean Clean Green มาใช้ คือ Lean Office ให้ความสำคัญสูงสุดกับบุคลากร โดยให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และทำงานกับหน่วยงานและเครือข่ายอื่น ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ Clean Office หรือการมีธรรมาภิบาล และ Green Office ที่ใช้เทคโนโลยีสะอาด โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัลในระบบการทำงาน