เมื่อวันที่ 29 ต.ค. ที่รัฐสภา นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมความพร้อมประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 30 ต.ค. ว่า สัปดาห์นี้มีประชุมสภาผู้แทนราษฎรแค่หนึ่งวัน เนื่องจากกำลังจะปิดสมัยประชุม ซึ่งจะมีการพิจารณากฎหมายในหลายฉบับแต่ที่อยากให้จับตาดูคือร่างพ.ร.บ.การขนส่งทางราง (ฉบับที่…) พ.ศ…. ที่อาจใช้เวลาเล็กน้อย เพราะอภิปรายจบตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วแล้ว แต่วันนั้นประธานในที่ประชุมได้สั่งปิดประชุมไปก่อน โดยในวันที่ 30 ต.ค.จะเป็นการลงมติก่อนที่จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.)
นายปกรณ์วุฒิ กล่าวต่อว่า สิ่งที่สำคัญคือการที่จะต้องเลือกว่าร่างใดจะเป็นร่างหลัก เนื่องจากครั้งที่แล้วมีมติวิปรัฐบาลว่าจะใช้ร่างของพรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นร่างหลัก แต่เมื่อวันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการกลับมติของวิปรัฐบาลเปลี่ยนมาใช้ร่างของ ครม. เป็นร่างหลัก ซึ่งครั้งที่แล้วตนก็แปลกใจว่าทำไมจึงจะใช้ร่างของพรรคเพื่อไทยเป็นร่างหลัก แต่เมื่อนายสุรเชษฐ์ ปวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ไปดูรายละเอียดของเนื้อหา กลับพบว่ามีการตัดทอนเนื้อหาในหลายมาตราและมีการยัดไส้ในหลายมาตรา ซึ่งเนื้อหาที่มีการเปลี่ยนแปลงมีการเอื้อให้เอกชนที่เป็นคู่สัมปทานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นลดการคุ้มครอง ของผู้โดยสารที่ใช้บริการขนส่งทางราง โดยให้เอกชนไม่ต้องชดเชยในกรณีที่อาจจะล่าช้าหรือยกเลิกเที่ยวรถ นอกจากนี้ ยังลดอำนาจของรัฐในการตรวจสอบคู่สัมปทานของรัฐ เปิดช่องให้เอกชน ถือกรรมสิทธิ์ของรางได้ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นที่จะต้องเป็นของรัฐ
“มีหลายส่วนที่ทำให้ชวนสงสัยว่าใครกันแน่ยัดร่างนี้มาใส่มือพรรคเพื่อไทย และพรรคเพื่อไทยกล้าเสนอในนามพรรคตัวเอง รวมถึงกล้าเสนอในวิปรัฐบาลให้ร่างนี้เป็นร่างหลักเพื่อเอื้อกับเอกชนในอนาคต แล้วลดการคุ้มครองและผลประโยชน์ของประชาชน แต่ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีที่เมื่อวันที่ 28 ต.ค. มีการกลับมติให้ร่างของ ครม.เป็นร่างหลัก” นายปกรณ์วุฒิ กล่าว
นายปกรณ์วุฒิ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม หลายครั้งในสภา เรามีการพูดถึงประสิทธิภาพในการพิจารณากฎหมาย ร่างพ.ร.บ.ขนส่งทางรางของพรรคประชาชนที่เสนอโดยนายสุรเชษฐ์นั้น ได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาชุดที่แล้ว ซึ่ง กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว และยื่นเข้าสู่สภา แต่มีการยุบสภาก่อน ดังนั้น หากมีการเริ่มจากร่างที่มีการทำงานและการพูดคุยของผู้แทนประชาชนแล้ว และถ้าเริ่มจากร่างของพรรคประชาชน ตนเชื่อว่าการทำงานจะรวดเร็วยิ่งกว่าเดิม เพราะเป็นร่างที่ผ่านการพูดคุยกันมาหลายขั้นตอน
“ขณะที่ร่างของ ครม.ไม่มีอะไรเลย มีเพียงการนำร่างของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยื่นกลับเข้ามา ซึ่งก็ไม่เข้าใจเช่นกันเวลาที่เราพูดว่าการพิจารณากฎหมายต้องมีความรอบคอบ แล้วความรอบคอบของรัฐบาลหมายถึงอะไร แต่ของเรา เราได้นำร่างที่ผ่านการทำงานกันมาอย่างหนัก ผ่านการประนีประนอมกันมาหลายฝ่าย หากไม่กลัวเสียหน้าและอยากให้สภามีประสิทธิภาพ ก็อยากให้โหวตให้ร่างของพรรคประชาชนเป็นร่างหลัก” นายปกรณ์วุฒิ กล่าว
เมื่อถามว่า หากเป็นเช่นนี้จะมีช่องทางที่เอาผิดได้หรือไม่ นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ต้องไปถามพรรคเพื่อไทยว่าสรุปแล้วใครเป็นคนเขียนร่างนี้มากันแน่ ใครเป็นคนนำเสนอร่างนี้มากันแน่ ซึ่งก็ต้องเป็นสส.ที่ต้องช่วยกันพิจารณา แต่ก็ไม่แน่ใจว่าไปรับคำแนะนำจากใครมาว่าควรตัดหรือเพิ่มมาตราใดบ้าง เมื่อถามว่า หากพบว่าเนื้อหาส่วนไหนที่เอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน ฝ่ายค้านจะสามารถหยิบยกเนื้อหามาได้ใช่หรือไม่ นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า กรมขนส่งทางรางได้ทำตารางเปรียบเทียบของทั้ง 3 ร่างไว้แล้วว่ามาตราใดที่หายไป มาตราใดที่เนื้อหาแตกต่างกัน แต่ในรายละเอียดจริงๆ นายสุรเชษฐ์ก็ได้ไปวิเคราะห์เนื้อหามาว่า ผ่าตัดตรงนั้นไปจะทำให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งเราก็พบว่ามีความผิดปกติอยู่พอสมควร.