เมื่อวันที่ 23 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงหัวค่ำที่ผ่านมา นายทักษิณ ชินวัตร หรือ โทนี่ วู้ดซัม อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมพูดคุย ผ่าน CARE talk “ปั้นข้าวเหนียวเคี่ยวความคิด:พรุ่งนี้เพื่อชีวิตคนอีสาน” โดยตอบข้อซักถาม นายอดิศร เพียงเกษ ตอนหนึ่งถึงปัญหาราคาสินค้าการเกษตรตกต่ำว่า ในสมัยที่ตนเป็นรัฐบาลจะใช้ยุทธสาสตร์ที่ว่า เราใช้ที่บ้านเราเท่าไร เราจะต้องส่งออกเท่าไร ตลาดโลกมีความต้องการเท่าไหร่ แล้วตลาดโลกมีใครบ้าง

เริ่มแรกเราก็ใช้วิธีขึ้นราคาในประเทศ ซึ่งเป็นการตลาดเหมือนการค้าขายทั่วไป โดบเฉพาะในส่วนของราคาข้าวที่ต้องคำนึงถึงราคาต้นทุนและกำไรเป็นราคาพื้นฐาน ก่อนไปดันราคาตลาดในต่างประเทศ ซึ่งสมัยที่ตนเป็นรัฐบาลได้มีการพูดคุยกับประเทศเวียดนาม ปากีสถาน อินเดีย เพื่อให้ได้ราคาที่ไม่ต่ำกว่าต้นทุนเช่นเดียวกับราคายางพารา ในส่วนของมันสำปะหลังในสมัยที่ตนเป็นรัฐบาลมีการพูดคุยกับจีนที่เป็นผู้ค้ารายใหญ่ก่อนขยายไปที่ยุโรป ส่วนราคาอ้อยและน้ำตาลสมัยนั้น มีการส่งเสริมแก๊สโซฮอล์ จึงทำให้ราคาอ้อยมีราคาสูงขึ้น

นายทักษิณ กล่าวอีกว่า ตนเรียกว่า เป็นการฮั้วกันของประเทศที่ยากจน ต่างจากน้ำมันซึ่งเป็นการฮั้วกันของประเทศที่ร่ำรวย ฉะนั้นจึงต้องมีการใช้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การตลาดและความเข้าใจความต้องการของประชาชนขั้นพื้นฐาน คำนึงถึงปริมาณที่เราผลิตได้ แล้วคำนึงถึงปริมาณที่โลกต้องการ

นายทักษิณ ยังพูดถึงเรื่องปัญหาราคาข้าวของชาวนาด้วยว่า ตอนนี้ไม่ได้คิดว่าชาวนาเป็นกระดูกสันหลัง ถามว่าตอนนี้ยังอยากเป็นผู้ส่งออกข้าวเป็นอันดับ 1 หรือไม่ ต้องย้อนกลับไปดูในเรื่องการส่งออกข้าววันนี้ เราต้องยอมรับว่า เราสู้เวียดนามไม่ได้ ผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าเวียดนามเยอะมาก เกือบครึ่งหนึ่ง ถึงแม้พันธุ์ข้าวจะดีกว่า ดูเหมือนว่าวันนี้ยังมีปัญหาเรื่องพันธุ์ข้าวอีกแล้ว หากใครเอาไปทำอะไรมีโทษถึงติดคุก งงมาก

นายทักษิณ กล่าวด้วยว่า แก้ปัญหาปัจจุบันทันด่วน ตนคิดว่า เรื่องที่ชาวบ้านไม่มีกิน ชาวบ้านไม่พอกิน เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องช่วยแก้ ไม่ใช่ว่าแจกเงินแล้วพอ แจกเงินเหมือนกับเอาปลามาให้ พอกินปลาหมด มื้อหน้าหิว ไม่รู้จะตกปลาอย่างไร ไม่มีเบ็ด ไม่รู้วิธีตก แต่เงินที่กู้มาเป็นจำนวนมากระยะสั้นได้ แต่ในระยะยาวจะต้องใช้ไปในส่วนของการฟื้นฟูประเทศด้วย วันนี้เราต้องแก้ปัญหาให้ประชาชนมีที่ทำกิน ให้เขาพอกินให้ได้ก่อนที่จะพอเพียง การแจกเงินเพื่อซื้อเสียงไปวันๆ คิดว่าไม่พอ.

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก CARE คิด เคลื่อน ไทย