หลายฝ่ายยังออกมาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ในประเด็นการเจรจาแบ่งผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ระหว่างไทย-กัมพูชา โดยใช้เอ็มโอยู 2544 ที่ทำไว้ยุครัฐบาล “นายทักษิณ ชินวัตร” มาเป็นเครื่องมือ ท่ามกลางเสียงคัดค้านทั้งจากฝ่ายการเมือง นักวิชาการ อดีตทหาร ร่วมถึงฝ่ายที่พยายามหาประเด็นคัดค้านรัฐบาลมาโดยตลอด เพราะเกรงว่า จะทำให้ฝ่ายไทยเสียเปรียบ เนื่องจากเป็นการรองรับการลากเส้นทางทะเลฝ่ายกัมพูชา ที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ และอาจนำไปสู่การเสียดินแดนในอนาคต โดยเฉพาะเกาะกูด จ.ตราด แม้ “นายนพดล ปัทมะ” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) และ อดีตรมว.ต่างประเทศ หากยังมีการปั่นแสโจมตี ระบุชัดเจนว่า พรรคพท.ทำให้ประเทศไทยเสียเกาะกูด คิดว่าคงต้องมีการดำเนินการตามกระบวนการกฎหมายต่อไป แต่ก็ไม่สามารถทำให้เรื่องนี้เงียบไปได้
โดย “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส” หัวหน้าพรรคเสรีรวมรวมไทย ( สร.) โพสต์เฟซบุ๊กว่า”พวกคลั่งชาติผมรับได้ แต่ไอ้พวกขายชาติผมรับไม่ได้จริงๆ” เช่นเดียวกับ” นายพิชิต ไชยมงคล” แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) สื่อสารผ่านโซเชียลว่า จะเชื่อได้ไหม ปี 2551 รัฐบาลเพื่อไทย (พท.) โดย นพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศขณะนั้น บอกว่าเราจะไม่เสียเปรียบเรื่องปราสาทเขาพระวิหารและพื้นที่รอบเขา ผลคือ กัมพูชา ขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหาร เพียงประเทศเดียว ปี 2567 รัฐบาลพท.ยังบอกว่า เราจะไม่เสียเกาะกูด แต่ต้องเอาผลประโยชน์ขึ้นมาใช้ก่อน เดี๋ยวพลังงานหมดอายุ เราถูกเป่าหูว่า พลังงานจะหมดอายุ เราถูกบอกว่า เราจะไม่เสียสิทธิ์ดินแดนทางทะเล แล้วเราจะเชื่อรัฐบาลที่คิดแต่ผลประโยชน์ได้ไหม จากนั้นนัดหมาย อังคาร 5 พ.ย. 67 “รวมพลคนคลั่งชาติ คัดค้านผลประโยชน์ทับซ้อน หยุดเจรจาผลประโยชน์ก่อนเขตแดน” เจอกันทำเนียบรัฐบาล 10.00 น. สะพานชมัยมรุเชฐ
ส่วน “นายวีระ สมความคิด” ประธานเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชัน เปิดเผยว่า มีความตั้งใจจะยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ทำการตรวจสอบกรณีพื้นที่ทับซ้อน ว่าเป็นการทำให้เสียดินแดน ผิดรัฐธรรมนูญ (รธน.) เพื่อขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบไต่สวนส่งศาลรธน. ยุบพรรคการเมืองและถอดถอนคณะรัฐมนตรี (ครม.) ออกจากตำแหน่ง และให้เลิกการกระทำดังกล่าวนั้นเสีย
คำร้องที่ 2 จะยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ให้ทำการตรวจสอบไต่สวนคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นคดีอาญาฐานเป็นกบฏ ทำให้ประเทศไทยเสียดินแดน ทั้งทางบกและทางทะเล และฟ้องคดีอาญาต่อศาลคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป และอาจยื่นคำร้องที่ 3 ต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองขอให้ยุบพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด ที่รัฐมนตรีของแต่ละพรรคไปร่วมสมรู้สมคบกันสนับสนุนให้มีการแถลงนโยบายจัดสรรผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนกับเขมรทั้งที่เป็นดินแดนของประเทศไทย เพื่อเสนอกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้ส่งศาลรธน.การยุบพรรคการเมืองและตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ร่วมรัฐบาลต่อไป
“ผมมีเวรกรรมอยู่กับเขมร เพราะได้ทำหน้าที่ปกปักรักษาแผ่นดินตามหน้าที่ของประชาชนชาวไทย จนถูกแกล้งจับไปติดคุกเขมรอยู่หลายปี ดังนั้นจึงต้องทำหน้าที่นี้ต่อไปจนถึงที่สุด” นายวีระ กล่าว
ที่น่าสนใจคือ “นายไพรัช สร้อยแสง” นายอำเภอเกาะกูด เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 09.00 น. พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ ผบ.ทร. พร้อมคณะ เดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์มาลงที่ฐานปฏิบัติการเกาะกูด (บริเวณบ้านแหลมเทียน ที่อยู่ทางตอนใต้ของเกาะกูด) เพื่อเยี่ยมและให้ขวัญกำลังใจกับกำลังพลในพื้นที่ชายแดน ซึ่งเป็นเรื่องปกติของผู้บังคับบัญชา ที่ต้องเดินทางมาเป็นปกติอยู่แล้ว ส่วนเรื่องภารกิจอื่นๆ ทางยุทธศาสตร์ทางความมั่นคงหรือเรื่องอื่นๆ ไม่ทราบในรายละเอียด ทาง ผบ.ทร. ไม่ได้เชิญฝ่ายปกครอง หรือฝ่ายพลเรือนเข้าไปร่วมงานหรือประชุมในภารกิจ ซึ่งน่าจะเป็นภารกิจภายในมากกว่า ส่วนประเด็นเรื่องความเคลื่อนไหวจากกลุ่มการเมือง เกี่ยวกับอธิปไตยของเกาะกูด อยากบอกว่า หยุดดีกว่า เพราะจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว
“ยืนยันได้เลยว่า เกาะกูด และพื้นที่ทะเลรอบเกาะกูดเป็นของประเทศไทย ตามสนธิสัญญาที่ฝรั่งเศสได้ทำไว้กว่า 100 ปีแล้ว ซึ่งเขตแดนทั้งหมดของเกาะกูด และทางทะเล ส่วนเรื่องผลประโยชน์ทางทะเล หรือพื้นที่ทับซ้อนเป็นเรื่องของรัฐบาลและนักการเมือง ที่ต้องรับผิดชอบและแก้ไข ผมเป็นข้าราชการไม่สามารถให้ความเห็นได้ แต่ไม่อยากให้นักการเมืองหรือกลุ่มองค์กรใดมาเคลื่อนไหวอะไรในอำเภอเกาะกูด จะทำอะไรก็ทำบนฝั่งจังหวัดตราดดีกว่า เพราะเราต้องการให้เกาะกูดเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้กับประเทศและพี่น้องชาวตราดและชาวเกาะกูดมากกว่า เรื่องนี้ผมขอวิงวอนแทนพี่น้องชาวเกาะกูด” นายไพรัช กล่าว
ด้าน “พล.ร.อ. จิรพล ว่องวิทย์” ผบ.ทร. เปิดเผยถึงสถานการณ์ด้านความมั่นคง ในพื้นที่อำเภอเกาะกูด จ.ตราด กรณี เอ็มโอยู 2544 นโยบายรัฐบาลเจรจาผลประโยชน์ทางทะเล ทำให้กองทัพเรือ(ทร.) ลำบากใจหรือไม่ ว่า หน้าที่ของกองทัพเรือ คือการดูแลรักษาผลประโยชน์ของชาติ รัฐบาลไทยได้ประกาศเขตเอาไว้แล้วเมื่อปี 2516 เราจะดูแลพื้นที่ตามเขตเเดนที่รัฐบาลประกาศไว้ ส่วนความคืบหน้าหรือข้อตกลงอะไรนั้น เป็นเรื่องของรัฐบาล เราทำหน้าที่ของเราอย่างเต็มที่ ที่จะดูแลเขตแดนอธิปไตยของชาติและรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลให้กับประชาชน
“ขอให้มั่นใจทร.ดูแลเขตแดนอธิปไตยของชาติ และรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลอย่างเต็มที่ ยืนยันความสัมพันธ์ ทั้งสองประเทศ พื้นที่อ้างสิทธ์ทับซ้อน ไม่มีความขัดแย้งใดๆ” ผบ.ทร.กล่าว
แม้รัฐบาลจะยังไม่กำหนดเงื่อนเวลาในการเจรจา เรื่องแบ่งผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกัมพูชา แต่ก็ต้องเร่งสร้างเข้าใจ เพื่อไม่ให้บานปลาย ยิ่งเกี่ยวข้องกันเรื่องเขตแดน และพื้นที่ที่เป็นผลประโยชน์ของชาติ อีกทั้งความสัมพันธ์ระหว่าง “นายทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ และ “สมเด็จฮุนเซ็น” ก็เป็นข้อกังวลของหลายคน หากมีการเจรจากันจริงๆ
ส่วนความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) หลังแกนนำพรรคฝ่ายค้านยังไม่หยุดความพยายาม “พรรคประชาชน(ปชน.) ก็เดินเกมรุก โดย “นายพริษฐ์ วัชรสินธุ” สส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคปชป. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงกรณีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาการเมืองฯออกหนังสือขอเข้าพบนายกฯ ประธานรัฐสภา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ(รธน.) หวังร่วมหาทางออกให้ประเทศมีรธน.ฉบับใหม่ก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป ทำให้พรรคพท.ต้องตกเป็นฝ่ายรับ เพราะเหมือนไม่มีความจริงในการเดินหน้หน้าเรื่องนี้
ด้าน “นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกฯในฐานะ รองหัวหน้าพรรคพท. และมือกฎหมายของพรรคพท. ให้ความเห็น กรณี นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อพรรคปชน.และประธานคณะกมธ.) พัฒนาการเมืองฯ ออกมาระบุ หากเดินหน้าตามแผนแก้รธน.เดิม จะไม่สามารถจัดทำรธน.ฉบับใหม่ได้ทันการเลือกตั้งครั้งต่อไป จึงต้องคิดแผนใหม่ ว่า ฝ่ายบริหารของพรรคพท. กำลังตั้งวงคิดกันอยู่ว่า จะมีซีนาริโอสองสามอย่าง เกี่ยวกับการแก้ไขรธน. 1. ถ้ากฎหมายประชามติจำเป็นต้องรอ 180 วัน แนวโน้มการแก้ไขรธน.อาจทำไม่เสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้ ถ้าจะทำให้เสร็จต้องเร่งรัดขั้นตอนเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นวิธีที่ยากลำบาก ก็กำลังคิดว่าหากเป็นแนวทางนี้จะเดินอย่างไร
2.กฎหมายประชามติเสร็จเร็ว ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับคณะกมธ.ร่วมสองสภาฯ จะทำให้จัดทำประชามติได้เร็วไม่เสียเวลา 180 วัน ก็มีแนวโน้มได้รธน.ฉบับใหม่ทัน หรือแนวทางที่3. เรากำลังคิดว่าจะมีวิธีการอื่นใดหรือไม่ ที่จะทำรธน.โดยไม่ต้องรอกฎหมายประชามติฉบับใหม่ ซึ่งขณะนี้มีแนวคิดถึงการทำประชามติสองครั้ง ซึ่งเป็นไปได้ แต่ต้องหารือกับหลายฝ่าย เมื่อถามว่า หากแก้รธน.ไม่ทัน พรรคพท.หรือรัฐบาลจะต้องรับผิดชอบอย่างไรหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า จะต้องรับผิดชอบอย่างไร เพราะตอนนี้ก็เป็นปัญหาอยู่และไม่ใช่ว่าเราไม่ทำ เราพยายามเต็มที่ เป็นเรื่องที่เราตั้งใจ นโยบายก็ออกมาชัดเจนว่า ต้องเร่งรัดทำรธน.ฉบับใหม่โดยเร็ว การแก้ไขรธน.อยู่ในเป้าหมายที่เราอยากให้มีรธน.ฉบับใหม่ เพียงแค่เราได้วางสถานการณ์เอาไว้ 3 แบบ แต่ไม่ใช่ว่าเราจะล้มเลิกความตั้งใจที่จะทำรธน.ฉบับใหม่
ด้าน “นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ” ประธานสส.พรรคพท. ให้สัมภาษณ์ในเรื่องการแก้ไขรธน. ว่า การจะแก้รธน.ได้ไม่ได้ มันอยู่ที่การทำประชามติ ที่เป็นกุญแจดอกแรก ซึ่งจะทันการเลือกตั้งท้องถิ่นต้นปี 68 หรือไม่นั้น เป็นหน้าที่ของคณะกมธ.ร่วม สส. และสว.ที่จะพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประชามติร่วมกันว่าจะเอาอย่างไร เช่นถ้าจะให้มีการทำประชามติสองชั้น ชั้นแรกเป็นหนึ่งในสี่ได้หรือไม่ ขอให้เขาได้ทำหน้าที่ให้เต็มที่ก่อน คิดว่าภายในเดือนนี้คงทราบแนวทางว่า จะออกมาอย่างไร และในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลเอง ระดับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องคุยกันด้วยว่าจะเอาแค่ไหนอย่างไร เมื่อถามว่าหากรธน.ฉบับใหม่ เสร็จไม่ทันรัฐบาลสมัยนี้ตามที่พท.หาเสียงไว้จะรับผิดชอบอย่างไร นายวิสุทธิ์ กล่าวว่าเรามีความตั้งใจแก้ไขรธน. เป็นนโยบายหาเสียงของพรรคพท. เราทำเต็มที่สุดกำลัง จะไปได้แค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับหลายฝ่าย ถ้าช้าก็ไม่ใช่ความผิดของเรา เพราะพยายามทำเต็มที่ ถ้าไม่สำเร็จเราไม่ใช่ปัญหา รัฐบาลก็ต้องแก้ปากท้องชาวบ้าน อย่างเรื่องการแก้ไขปัญหาสัญญาติถือเป็นเรื่องใหญ่ ที่รัฐบาลเดินหน้า เงินหมื่นที่สองก็ต้องเร่ง
ดูขั้นตอนการแก้ไข รธน. คงไม่สามารถผลักดันได้ง่าย เพราะนอกจากพรรคร่วมรัฐบาลจะมีความเห็นไม่ตรงกัน ยังต้องผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาฯ ดังนั้นที่บางฝ่ายคาดหวังว่า จะมีรธน.ฉบับใหม่มาใช้กับการเลือกตั้งปี 70 คงเป็นเรื่องไกลเกินฝัน.
“ทีมข่าวการเมือง”