วันที่ 23 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทย ได้ออกแถลงการณ์ร่วมรายงานความคืบหน้ากรณีการตัดเงินที่ผิดปกติผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิต ว่า เมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารได้คืนเงินลูกค้าบัตรเครดิตและบัตรเดบิต 10,700 ใบครบทุกรายแล้ว ซึ่งมีความเสียหายรวม 131 ล้านบาท แบ่งเป็น บัตรเดบิตที่ได้คืนเงิน 4,800 ใบ มูลค่า 31 ล้านบาท ส่วนบัตรเครดิต 5,900 ใบ มูลค่า 100 ล้านบาท ได้ทำการยกเลิกรายการเรียบร้อย โดยลูกค้าไม่ต้องชำระเงินตามยอดเรียกเก็บที่ผิดปกติและไม่มีการคิดดอกเบี้ยใดๆ

นอกจากนี้ ธนาคารยกระดับป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ได้แก่ ตรวจจับธุรกรรมที่ผิดปกติ ครอบคลุมวงเงินต่ำและที่มีความถี่สูง, ติดตามเฝ้าระวังรายการธุรกรรมจากต่างประเทศเป็นพิเศษ แจ้งเตือนลูกค้าทุกรายการตั้งแต่รายการแรก และแจ้งวิธีการป้องกันความเสี่ยงให้ลูกค้า เช่น การปรับวงเงินในบัตรให้เหมาะสมกับการใช้จ่าย

หลีกเลี่ยงการผูกบัตรกับเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มที่ไม่น่าไว้ใจ ทำให้ปริมาณธุรกรรมผิดปกติในลักษณะดังกล่าวลดลงมาก โดยธนาคารจะติดต่อสอบถามลูกค้าเพิ่มเติมกรณีพบรายการต้องสงสัย ทั้งนี้ หากพบความเสียหายเพิ่มเติมจากกรณีข้างต้น ลูกค้าบัตรเดบิตจะได้รับการคืนเงินภายใน 5 วันทำการ

ขณะเดียวกัน ธปท. และสมาคมธนาคารไทย ได้หารือกับผู้ให้บริการเครือข่ายบัตรทุกราย เช่น วีซ่า, มาสเตอร์การ์ด กำหนดมาตรการเพิ่มเติมบังคับใช้การยืนยันตัวตนก่อนทำรายการชำระเงินกับบัตรเดบิตสำหรับทุกร้านค้าออนไลน์ โดยเฉพาะร้านค้าในต่างประเทศ เช่น การใช้ระบบการยืนยันตัวตนของเครือข่ายบัตร ที่ให้ลูกค้าต้องยืนยันตัวโดยใส่เลขโอทีพีก่อนร้านค้าทำการตัดบัญชี ซึ่งเข้มข้นกว่ามาตรฐานที่เครือข่ายบัตรกำหนดไว้ รวมทั้งยกระดับการบริหารจัดการความเสี่ยงในการทำธุรกรรมของลูกค้า และนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ป้องกันและตรวจจับภัยคุกคามทางการเงินในรูปแบบใหม่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ธปท. และสมาคมธนาคารไทย ได้ระบุ ระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์มีการบริหารความเสี่ยงสอดคล้องกับมาตรฐานสากล และธนาคารร่วมกับชมรมตรวจสอบและป้องกันการทุจริต ชมรมบัตรเครดิต และศูนย์ประสานงานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศภาคธนาคาร (TB-CERT) ในการพัฒนาระบบป้องกันให้เท่าทันภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ๆ อยู่เสมอ

และร่วมกันสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับการใช้บริการทางการเงินดิจิทัลเพื่อให้ประชาชนเข้าใจและเพิ่มความระมัดระวังการทำธุรกรรมออนไลน์ เช่น การทำธุรกรรมกับแพลตฟอร์มที่ไม่มีการยืนยันตัวตนก่อนใช้งาน หรือไม่มีการใช้ OTP รวมทั้งหมั่นตรวจสอบการทำธุรกรรมทางการเงินเป็นประจำ เพื่อลดความเสี่ยงจากมิจฉาชีพที่จะกระทำการทุจริตทางการเงินใด ๆ ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการให้มากขึ้นต่อไป

ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัย สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมผ่านช่องทางบริการต่าง ๆ ของธนาคาร หรือที่ ธปท.