กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งสำหรับการอ้างสิทธิพื้นที่ทับซ้อนกันระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชาที่ยืดเยื้อยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน หรือโอซีเอ (Overlapping Claims Area: OCA) ระหว่างไทย-กัมพูชา มีขนาดประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.)  

เกิดจากการที่กัมพูชาใช้แผนที่เดินเรือของฝรั่งเศสเป็นตัวอ้างอิงในการกำหนดเส้นอ้างสิทธิในไหล่ทวีปของตัวเองในอ่าวไทยเมื่อในปี 2515 แต่ฝ่ายไทยคัดค้าน พร้อมกับประกาศเส้นอ้างสิทธิในไหล่ทวีปในอ่าวไทยเช่นกัน เมื่อปี 2516

กระทั่งเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2544 ในสมัยรัฐบาลของ “ทักษิณ ชินวัตร” ทั้ง 2 ประเทศได้ร่วมกันจัดทำและลงนามรับรองบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาว่าด้วย พื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า “เอ็มโอยู ปี 2544” ซึ่งผู้ลงนาม คือ “ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย” รมว.ต่างประเทศขณะนั้น กับ “ซก อาน” รัฐมนตรีอาวุโสและประธานการปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชาในเวลานั้น

ซึ่งได้กำหนดการกรอบและมีกลไกการเจรจาระหว่างกัน คือคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค หรือเจทีซี (Joint Technical Committee: JTC) ไทย-กัมพูชา มีเงื่อนไขว่าไทยกับกัมพูชาต้องพูดคุยเรื่องแบ่งเขตทางทะเล และการพัฒนาพื้นที่ร่วมกันไปพร้อมกันโดยไม่อาจแบ่งแยกกันได้

แต่การเจรจาระหว่าง 2 ประเทศ ยังไม่สามารถตกลงหาข้อสรุปใดๆได้สืบเนื่องจากหลายๆปัจจัย แม้ผ่านไปหลายปีแล้วก็ตาม และในปี 2552 ยุครัฐบาลของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เกิดหลายเรื่องราวที่กระทบกับสายสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การเจรจาไม่คืบหน้า

และที่สำคัญ สมเด็จฯฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาในขณะนั้น แต่งตั้ง “ทักษิณ  ชินวัตร” เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ ทั้งที่“ทักษิณ” เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย และเป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรงในการจัดทำเอ็มโอยูปี 2544 ด้วย ย่อมรับรู้ท่าทีและรายละเอียดการเจรจาของฝ่ายไทย ซึ่งสามารถส่งผลโดยตรงต่อการเจรจาของไทยได้

ทำให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) “รัฐบาลอภิสิทธิ์” มีมติเห็นชอบในหลักการให้ยกเลิกเอ็มโอยูฉบับนี้ แต่ระบุให้กระทรวงการต่างประเทศศึกษาอย่างรอบคอบด้วย ประกอบกับหลังจากครม.มีมติแล้ว ต้องส่งเรื่องขอความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา ทำให้กระทรวงการต่างประเทศต้องพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ พร้อมกับหารือที่ปรึกษากฎหมายที่เป็นชาวต่างชาติและหน่วยงานต่างๆของไทยแล้ว จนมาได้ข้อสรุปในปี 2557 ยุครัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีมติให้ยังคงเอ็มโอยูฉบับนี้ต่อไป

ขณะที่การเดินหน้าเรื่องที่เกี่ยวกับไทย-กัมพูชาในยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เน้นย้ำเรื่องการจับมือพัฒนาร่วมกันเพื่อความสงบสุขของทั้ง 2 ฝ่าย อีกทั้งเมื่อปี 2564 ได้มีการแต่งตั้ง “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นประธานคณะเจทีซีฝ่ายไทย และก่อนหน้านั้น พล.อ.ประวิตรเคยได้เป็นประธานคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม(เจบีซี)ไทย-กัมพูชาด้วย ย่อมรู้รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นอย่างดี

แต่เมื่อถึงยุครัฐบาลปัจจุบันภายใต้การนำของ “แพทองธาร ชินวัตร” เรื่องพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวและเอ็มโอยูปี 2544 ถูกหยิบยกมาจุดเป็นประเด็นร้อนในบ้านเราอีกครั้ง เพราะตัว “นายกฯแพทองงธาร” ถือเป็นบุตรสาว สายตรงของ “อดีตนายกฯทักษิณ” และภาพความสนิทสนมใกล้ชิดระหว่าง “ทักษิณ-สมเด็จฯฮุน เซ็น” ยังแนบแน่น ทำให้ประชาชนในไทยยังไม่ไว้วางใจการดำเนินการต่างๆของรัฐบาลชุดนี้

บวกกับการเคลื่อนไหวของกลุ่ม “ไม่เอาทักษิณ” ยังมีอยู่ และได้แรงเสริมจากพรรคการเมืองที่ถูกมองว่ากำลังเป็นฝ่ายแค้น อย่าง “พรรคพลังประชารัฐ” ที่มี “พล.อ.ประวิตร” เป็นหัวหน้าพรรค แต่ก็มีคำถามว่าหากเอ็มโอยูปี 2544 สร้างปัญหาใหญ่ทำให้ไทยเสียประโยชน์ เหตุใดตอนที่“พล.อ.ประวิตร”มีตำแหน่งใหญ่ในรัฐบาล จึงไม่ดำเนินการใดๆเพื่อให้ยกเลิกเอ็มโอยูนี้

ทั้งหลายทั้งปวงในเมื่อประชาชนในประเทศยังไม่ไว้วางใจ และตั้งคำถามมากมาย ทำให้รัฐบาลต้องเร่งแก้สถานการณ์ หรือหากยังไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วน ควรชะลอไว้ พร้อมกับต้องหาทางพิสูจน์ความสุจริตใจ เพื่อความอยู่รอดของรัฐบาล และทำให้ไทยไม่เสียเปรียบให้กับคู่เจรจาด้วย