ข้อเข่าเสื่อม เป็นโรคที่พบได้มากในผู้สูงอายุ มักก่อให้เกิดอาการ ปวดที่ข้อเข่า หากเป็นมากอาจส่งผลให้ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ หรือเดินไม่ได้ในที่สุด อย่างไรก็ตาม เราสามารถพบโรคนี้ได้ในกลุ่มคนที่อายุน้อย จากสาเหตุที่แตกต่างกันไป

ผศ. นพ.ปิลันธน์ ใจปัญญา ศัลยกรรมกระดูกและข้อ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคข้อเข่าเสื่อมว่า โรคข้อเข่าเสื่อมคือ โรคที่ผิวข้อเกิดการเสื่อมสภาพ ทําให้เกิดการอักเสบเรื้อรังหรือเข่าผิดรูป และเกิดความเจ็บ ปวดที่ข้อเข่า

ปัจจัยของโรคข้อเข่าเสื่อม

  1. อายุ เมื่ออายุมากขึ้น เข่าผ่านการใช้งานที่ยาวนาน จึงเกิดความเสื่อมได้ตามเวลา
  2. น้ำหนักตัว น้ำหนักตัวที่มากทำให้เข่าต้องรับน้ำหนักมากขึ้น
  3. การใช้งาน การนั่งในท่าที่ต้องงอเข่าเกิน 90 องศา เป็นการเพิ่มแรงดันในข้อเข่า ส่งผลให้ปวดเข่าได้
  4. อุบัติเหตุ การเล่นกีฬาที่มีการกระแทกสูงเพิ่มความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของข้อเข่า

อาการของโรค ข้อเข่าเสื่อม 

อาการของโรคข้อเข่าเสื่อมแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

  1. อาการที่เกิดจากการเสื่อมหรือการผิดรูป โดยปกติผิวข้อของคนเราจะขนานกัน หากเป็นข้อเข่าเสื่อม ผิวข้อบางส่วนอาจสึกทำให้กระดูก 2 ข้างไม่เท่ากัน สังเกตได้จากบางคนเดินแล้วเข่าโก่ง หรือเข่าเข้ามาชิดกัน หรือได้ยินเสียงกรอบแกรบบริเวณหัวเข่า
  2. อาการอักเสบ ผู้ป่วยมีอาการปวดหรือบวมบริเวณข้อเข่า อาจเกิดจากการใช้งานเข่าที่มากเกินไป ส่วนใหญ่มักปวดเมื่อขยับเข่าหรือลงน้ำหนัก เช่น เดินเยอะ ยืนนาน มีการงอเหยียดเข่า

4 ความเชื่อโรคข้อเข่าเสื่อม

หลายคนอาจเคยได้รับข้อความที่แชร์ต่อกันมาถึงพฤติกรรมที่ว่ากันว่าทำให้เกิดข้อเข่าเสื่อม หรือสิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อเป็นโรคนี้ ความเชื่อเหล่านี้จริงหรือไม่

ความเชื่อที่ 1 ข้อเข่าเสื่อมเกิดจากการวิ่งมากเกินไป  ความเชื่อนี้จริงบางส่วน การวิ่งเป็นการออกกําลังกายที่ดี เพราะได้บริหารทั้งระบบกล้ามเนื้อ หัวใจ และข้อต่อ แต่หากวิ่งเยอะเกินไปอาจส่งผลให้เกิดอาการเจ็บปวดตามข้อหรือกล้ามเนื้อต่าง ๆ ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพกล้ามเนื้อและร่างกายของแต่ละคน คนที่วิ่งเยอะเกินไปหรือเกิดอุบัติเหตุจากการวิ่ง เช่น วิ่งแล้วเข่าบิด วิ่งแล้วตกหลุม อาจทําให้เกิดการบาดเจ็บในข้อเข่า และเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดข้อเสื่อมตามมาได้

ความเชื่อที่ 2 ข้อเข่าเสื่อมเกิดจากวัยทอง ความเชื่อนี้จริงบางส่วน เนื่องจากอายุที่มากขึ้นเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักของโรคข้อเข่าเสื่อม วัยทอง คือ การเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ จึงพบผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมได้มากกว่าคนวัยอื่น อย่างไรก็ตาม คนอายุน้อยสามารถเป็นข้อเข่าเสื่อมได้เช่นกันจากสาเหตุอื่น เช่น เคยเกิดอุบัติเหตุ หมอนรองกระดูกฉีกขาด กระดูกหักที่บริเวณข้อเข่าหรือรอบข้อเข่า ทําให้เส้นเอ็นหรือผิวข้อได้รับบาดเจ็บ หรือมีการติดเชื้อในข้อเข่าที่ทําให้ผิวข้อถูกทําลาย ดังนั้น โรคข้อเข่าเสื่อมสามารถเป็นได้ทุกเพศทุกวัย แต่ส่วนใหญ่มักพบในผู้สูงอายุ

ความเชื่อที่ 3 ข้อเข่าเสื่อมเกิดจากอาหารการกิน ความเชื่อนี้ไม่จริง

สาเหตุของข้อเข่าเสื่อมส่วนใหญ่เกิดจากการใช้งาน โดยกลุ่มเสี่ยง ได้แก่

  1. คนที่มีน้ำหนักตัวมาก ข้อเข่ารับน้ำหนักไม่ไหว หรือมีการใช้งานในท่าต้องงอเข่าเยอะ เช่น นั่งพื้น นั่งยอง ๆ นั่งขัดสมาธิ การงอเง่าในลักษณะนี้เป็นการเพิ่มแรงดันในข้อเข่า ทําให้มีอาการปวดเข่าได้
  2. คนที่เคยเกิดอุบัติเหตุบริเวณเข่า โครงสร้างในข้อเข่าจึงผิดปกติไป ไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้ตามปกติ เกิดการบาดเจ็บเพิ่มขึ้นได้

ความเชื่อที่ 4 ข้อเข่าเสื่อมห้ามออกกำลังกาย  ความเชื่อนี้ไม่จริง หากเป็นข้อเข่าเสื่อม คนไข้ควรประเมินสภาพร่างกายของตัวเองก่อนออกกำลังกายเสียก่อน ถ้าเคยออกกำลังกายด้วยการเดินหรือวิ่งจ็อกกิงอยู่แล้ว สามารถทำต่อได้หรือออกกำลังกายเบา ๆ ได้เท่าที่ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด ควรใส่รองเท้าที่มีพื้นนุ่มที่ช่วยรับน้ำหนักได้ดี เช่น รองเท้ากีฬา และเลือกเดินในพื้นราบจะช่วยลดอาการปวดได้ แต่ในผู้ป่วยที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน ไม่แนะนำให้ออกกำลังกายเพิ่มเติม เนื่องจากอาจก่อให้เกิดอาการปวดในจุดอื่น ๆ ตามมาได้ในระยะยาว อย่างไรก็ตาม การไม่ออกกำลังกายเลยทำให้เกิดความเสี่ยงโรค เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ หรือมีกล้ามเนื้อที่ไม่แข็งแรง ปวดตามร่างกายนอกเหนือจากเข่าได้

การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม 

การรักษาโรค ข้อเข่าเสื่อม มีหลายวิธีที่ต้องทำควบคู่กันไป ทั้งการปรับพฤติกรรมการชีวิต และการรักษาทางการแพทย์ 

  1. ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต หลีกเลี่ยงการงอเข่าเกิน 90 องศา เช่น การนั่งยอง ๆ นั่งพับเพียบ นั่งกับพื้น เพราะเป็นท่าที่ทำร้ายข้อเข่า
  2. ควบคุมน้ำหนัก การลดน้ำหนักลงจากเดิมได้อย่างน้อย 5% ช่วยให้ข้อเข่ารับน้ำหนักน้อยลง อาการปวดเข่าจึงน้อยลงด้วย
  3. เสริมสร้างกล้ามเนื้อรอบเข่า กล้ามเนื้อหน้าขา เป็นกล้ามเนื้อที่มีผลต่อการทำงานของเข่า การออกกำลังกายกล้ามเนื้อส่วนนี้ให้แข็งแรงจะช่วยลดอาการปวดตึงบริเวณเข่าจากข้อเสื่อมได้ 
  4. รักษาด้วยยา แพทย์จะให้ยาลดปวดหากผู้ป่วยมีอาการปวด โดยยาที่ให้อาจแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นอยู่กับระยะของความเสื่อมและโรคประจำตัว เช่น โรคไต โรคหัวใจ นอกจากยาแก้ปวดแล้ว อาจมีการให้ยากลุ่มกลูโคซามีนซัลเฟต หรือไดอะเซอรีน ซึ่งเป็นยาที่ช่วยฟื้นฟูและเพิ่มน้ำหล่อเลี้ยงข้อเข่า จึงช่วยลดอาการปวดข้อที่เกิดจากข้อเสื่อมระยะต้น ๆ ได้ อีกทั้งยังสามารถรับประทานต่อเนื่องในระยะยาวได้ สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานยาลดอักเสบหรือยาบางชนิดต่อเนื่องนาน ๆ ได้ เพราะมีผลต่อโรคประจําตัว การใช้ยากลุ่มกลูโคซามีนหรือไดอะเซอรีนจึงถือเป็นทางเลือกที่ดีอีกทางเลือกหนึ่ง 
  5. ผ่าตัดเข่า การรักษาด้วยวิธีนี้ใช้เมื่อผู้ป่วยมีอาการปวดเข่ามาก และไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น โดยการผ่าตัดเข่าแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
    1. ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า เหมาะสมสําหรับผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป หรือเข่าสึกมาก เนื่องจากข้อเทียมมีอายุการใช้งาน 15-20 ปี หากผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าตั้งแต่อายุน้อยอาจทำให้ต้องผ่าตัดแก้ไขอีกครั้งเมื่ออายุมากขึ้น
    1. ผ่าตัดปรับมุมกระดูก แพทย์มักใช้วิธีนี้กับผู้ป่วยที่อายุยังน้อยเพื่อเปลี่ยนรูปทรงของกระดูกให้น้ำหนักไปลงจุดที่เข่าไม่เสื่อมแทน เป็นการยืดระยะเวลาไปก่อนต้องผ่าตัดเปลี่ยนเข่าจริง

วิธีป้องกัน ข้อเข่าเสื่อม

  1. ควบคุมน้ำหนัก น้ำหนักที่มากเกินไปทำให้ข้อเข่าต้องรับน้ำหนักมาก
  2. หลีกเลี่ยงการใช้งานเข่าในท่าที่งอเกิน 90 องศา เช่น การนั่งยอง ๆ นั่งกับพื้น การนั่งในลักษณะนี้เป็นการเพิ่มแรงดันในเข่า ทําให้กระดูกที่ไม่เรียบเข้ามาสีกัน แล้วกระตุ้นให้เกิดอาการปวดได้ 
  3. ออกกําลังกายกล้ามเนื้อรอบเข่า โดยเฉพาะกล้ามเนื้อหน้าขา ช่วยลดอาการปวดได้
  4. ระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุบริเวณเข่า หรือเล่นกีฬาที่มีการกระแทกสูง เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล อาจเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายจากการล้มเข่าบิดจนโครงสร้างในข้อเข่าถูกทำลาย ทำให้การรับน้ำหนักในข้อเข่าผิดปกติ กระตุ้นให้เกิดข้อเข่าเสื่อมในระยะยาวได้

แม้โรคข้อเข่าเสื่อมจะเป็นโรคที่พบได้มากในผู้สูงอายุ แต่ใคร ๆ ก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ ฉะนั้น หากพบความผิดปกติที่ข้อเข่า ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษา เป็นการช่วยลดความรุนแรงของโรค และทำให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้.