แม้จักรวาลแห่งการลงทุนในโลกนี้จะกว้างใหญ่แค่ไหน แต่สำหรับนักลงทุนทั่วไปแล้ว การลงทุนที่เป็นที่คุ้นเคยก็มักจะจำกัดวงอยู่ที่สินทรัพย์ถ้าไม่ใช่ตราสารหนี้ (เช่น พันธบัตร หุ้นกู้) ก็เป็นกลุ่มตราสารทุน (เช่น หุ้น) ซึ่งก้มีทั้งในรูปแบบการลงทุนทางตรง หรือการลงทุนผ่านกองทุนรวมที่เราคุ้นเคย
อย่างไรก็ตามอีกหนึ่งสิ่งการลงทุนยอดนิยมที่ให้ผลตอบแทนสูงไม่แพ้กัน แต่นักลงทุนหลายๆคนมักจะมองข้ามไป แม้ว่าจะคุ้นเคยหรือคุ้นชินกับสิ่งเหล่านี้มากขนาดไหนนั้นก็คือ “โครงสร้างพื้นฐาน” (Infrastructure) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในสินทรัพย์ที่นักลงทุนควรจะต้องมีไว้ในการลงทุน เนื่องจากเป็นการกระจายการลงทุนออกจากสินทรัพย์เดิมๆ ที่คุ้นเคยกัน ซึ่งบทความนี้จะกล่าวถึงประเด็นนี้
อะไรคือโครงสร้างพื้นฐาน
ในนิยามทั่วไป โครงสร้างพื้นฐานคือโครงสร้างที่จำเป็นต่อการให้บริการกับชุมชนหรือท้องถิ่นนั้นๆ ตัวอย่างเช่นระบบการส่งกระแสไฟฟ้าที่ปัจจุบันใช้สายไฟฟ้าในการส่ง ซึ่งพอมาดูในมิติของการลงทุน จะพบว่าโครงสร้างพื้นฐานคือสินทรัพย์ที่มีตัวสินทรัพย์จริงๆ ให้จับต้องได้ หรือสามารถเห็นได้ชัดเจนว่ามีคนเช่า หรือมีคนใช้บริการจริงๆ ตัวอย่างเช่น สายไฟฟ้า ระบบรางรถไฟ และถนน เป็นต้น ทำให้ในทางการเงินเราสามารถคำนวณรายได้ที่จะเข้ามาได้แน่นอนสำหรับอนาคต รวมถึงรายได้ที่สามารถปรับตามเงินเฟ้อได้โดยง่ายด้วยเช่นกัน ทำให้โครงสร้างพื้นฐานไม่เหมือนกับสินทรัพย์อื่นๆ
ซึ่งแตกต่างจากสินทรัพย์ทางการเงิน (เช่น หุ้น หุ้นกู้ พันธบัตร) เป็นสินทรัพย์ที่ไม่เห็นตัว กล่าวคือ ถ้าเราเป็นผู้ถือหุ้นสามัญ หรือหุ้นกู้ของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง สิ่งที่เราจะได้รับมากที่สุดคือใบหุ้นที่แสดงว่า เราเป็นเจ้าของบริษัท หรือ มีสถานะการเป็นเจ้าของหรือเจ้าหนี้ แต่ไม่สามารถแสดงออกมาให้เห็นรูปธรรมที่มองแล้ว เข้าใจได้ง่ายๆ
กลับกันโครงสร้างพื้นฐานจะมีตัวสินทรัพย์เป็นสิ่งที่จับต้องได้เป็นเบื้องหลัง นึกภาพง่ายๆ เช่น เราเป็นเจ้าของบริษัทที่ดำเนินกิจการทางด่วน หรือสายส่งไฟฟ้า เป็นต้น ทำให้มีความเป็นนามธรรมต่ำกว่า และมีสินทรัพย์ของจริงที่จับต้องได้ให้เห็น นอกจากนั้นแล้วในทางการเงินยังสามารถคำนวณรายได้ที่จะเข้ามาได้แน่นอนสำหรับอนาคต รวมถึงรายได้ที่สามารถปรับตามเงินเฟ้อได้โดยง่ายด้วยเช่นกัน ทำให้โครงสร้างพื้นฐานไม่เหมือนกับสินทรัพย์อื่นๆ
นอกจากนั้นแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเข้าถึงสินทรัพย์ตัวนี้ได้ง่ายๆ เพราะสินทรัพย์ดังกล่าวมักต้องใช้เงินลงทุนตั้งต้นที่สูง ทำให้มีผู้เล่นในตลาดน้อยราย ยิ่งไปกว่านั้นเนื่องจากเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมาก มักจะต้องมีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะในเชิงของการควบคุมดูแล (licensing, provisioning) หรือการอิงกับสัญญาสัมปทานที่ควบคุมโดยรัฐ ดังนั้นโครงสร้างพื้นฐานจึงไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถลงทุนได้ง่ายๆ นั่นเอง
ประเภทและสถานะของโครงสร้างพื้นฐาน
โดยทั่วไปแล้ว โครงสร้างพื้นฐานแบ่งได้เป็น 5 กลุ่มหลักๆ คือ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง (เช่น สนามบิน ทางด่วน ถนน รถไฟฟ้า ที่จอดรถ) กลุ่มดิจิทัล (เช่น สายไฟเบอร์ใยแก้วนำแสง เสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ ศูนย์ข้อมูล) กลุ่มพลังงาน (เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก) กลุ่มระบบจัดส่งพลังงานและสาธารณูปโภค (เช่น ระบบจัดเก็บพลังงาน ระบบจัดเก็บเชื้อเพลิง ท่องส่งก๊าซธรรมชาติ ท่อส่งน้ำ ระบบสายไฟฟ้า) และกลุ่มพื้นฐานทางสังคม (เช่น สถานศึกษา สถานบริการสุขภาพ) ซึ่งทั้ง 5 กลุ่มนี้ จัดเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เราพบเห็นกันได้ทั่วไป
นอกจากการแบ่งกลุ่มตามประเภทแล้ว ยังมีการแบ่งกลุ่มอีกแบบคือตามสถานะโครงการ กล่าวคือ โครงสร้างพื้นฐานของแต่ละส่วนนั้นก็มีสถานะที่ไม่เท่ากัน ดังนั้นจึงซอยแบ่งสถานะของโครงการออกมาดังนี้
-Greenfield หรือทุ่งหญ้าเขียว โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ยังไม่ได้มีการเริ่มต้นการทำหรือลงทุนสร้างใดๆ แบ่งออกเป็นสองขั้นตอน คือ Early Stage ซึ่งมีเฉพาะแผนโครงการเท่านั้น นับเป็นแบบที่มีความเสี่ยงสูงสุด เนื่องจากโครงการอาจไม่ได้รับการอนุมัติ และ Late Stage ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับอนุมัติแล้ว และเริ่มก่อสร้างไปบางส่วนแต่ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ แบบนี้มีความเสี่ยงที่รองลงมาเนื่องจากแม้โครงการจะได้รับอนุมัติแล้ว แต่ก็มีสิทธิที่จะล้มเลิกได้ทุกเมื่อเช่นกัน
-Brownfield หรือทุ่งน้ำตาล เป็นโครงการที่มีการดำเนินการพัฒนาเรียบร้อยแล้ว และเริ่มเปิดให้บริการในเชิงพาณิชย์แล้ว เริ่มมีรายรับที่แน่นอนแล้ว
จากรายงานผลสำรวจและคาดการณ์ของ Global Infrastructure Hub เมื่อเดือนมิถุนายนปี 2018 ระบุว่า ประเทศในภูมิภาคเอเชียอาจต้องใช้เงินลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้สูงถึง 50.7 ล้านล้านดอลลาร์ไปจนถึงปี 2040 รองลงมาเป็นภูมิภาคอเมริกาที่ 20.7 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งการลงทุนส่วนมากของโครงสร้างพื้นฐาน เกิดขึ้นในเรื่องของการขนส่งโดยเฉพาะถนน และกระแสไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม การลงทุนที่ประกาศมาทั้งหมดในปัจจุบัน ยังต่ำกว่าสิ่งที่จำเป็นจริง (need) เพื่อตอบสนองความต้องการ โดยคาดว่าจะไม่ถึงเป้าหมายของ UN SGDs ในปี 2030
ดังนั้นแล้ว โครงสร้างพื้นฐานยังเป็นสิ่งที่มีความต้องการอยู่ทั่วโลกตลอดเวลา รวมถึงความต้องการในการลงทุนอีกมากด้วยเช่นกัน การระดมเงินลงทุนด้วยการให้หน่วยงานภาครัฐมาลงทุนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้เพียงอย่างเดียว จึงอาจไม่พอกับความต้องการ การระดมเงินจากภาคเอกชนจึงเกิดขึ้น และให้ภาคเอกชนเข้ามาบริหารงานบางส่วน เป็นการลดภาระทางการคลัง ในขณะเดียวกันก็ทำให้ตัดผ่าน (bypass) ระบบราชการที่อาจทำงานได้ล่าช้าด้วย
ในมิติของการลงทุน โครงสร้างพื้นฐานมีรูปแบบที่เป็นทั้งการลงทุนแบบสินทรัพย์ในตลาด (Public Asset) ที่ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงได้ ทั้งผ่านการลงทุนในกองทุนรวม หรือผ่านตลาดหลักทรัพย์ ตัวอย่างเช่น กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือ กองทรัสต์โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และการลงทุนแบบทรัพย์สินนอกตลาด (Private Asset) ที่ไม่มีการกำหนดราคารายวัน และไม่สามารถแลกเปลี่ยนมือได้ง่าย รวมถึงต้องใช้เงินในการลงทุนที่มากกว่า และความเสี่ยงที่สูงกว่า แต่มักแลกมาด้วยความเสถียรกว่าเมื่อเทียบกับทรัพย์สินอื่นๆ และผลตอบแทนที่มักจูงใจมากกว่าด้วยเช่นกัน
ข้อดีและข้อเสียของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน
เมื่อพูดถึงการลงทุน ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียในแต่ละทรัพย์สิน (Risk/Reward) ประกอบกันไป ข้อดีของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานโดยภาพรวม คือ รายได้ที่ค่อนข้างแน่นอน เพราะกลุ่มคนส่วนมากในท้องถิ่นนั้นจำเป็นต้องใช้, ความเสี่ยงต่ออัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ เนื่องจากสัญญาประกอบกิจการหรือดำเนินการ มักสามารถปรับราคาให้สอดคล้องกับเงินเฟ้อ, ลดความเสี่ยงจากตลาดหมีของการลงทุน เพราะรายได้มักไม่ปรับขึ้นลงตามวงจรเศรษฐกิจ และสุดท้ายคือกระจายการลงทุนไม่ให้ไปกองอยู่ในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งเป็นการเฉพาะ ทำให้พอร์ตการลงทุนของเรานั้นผันผวนน้อยลง
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานก็มีเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ความเสี่ยงจากการกู้ยืม เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานมักต้องใช้เงินลงทุนที่สูง ทำให้ต้องมีการกู้ยืมสูงในช่วงแรก, ความเสี่ยงจากนโยบายและการเมือง ที่อาจเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้ (มักเกิดขึ้นในประเทศที่กำลังพัฒนา) ตามผู้บริหาร, การเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน ที่อาจใช้ระยะเวลาในการเปลี่ยนแปลง (เช่น เดิมใช้รถยนต์ แต่ตอนหลังเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้า) และสุดท้ายผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้มักจะมีขนาดใหญ่ และมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมด้วย
นอกจากนี้ สำหรับผู้ลงทุนเองก็ต้องประเมินด้วยว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานนั้นเหมาะสมกับตัวเองหรือไม่ จากข้อมูลทางสถิติที่จัดทำโดย XSpring AM ได้นำข้อมูลมาจากดัชนี S&P Global Infrastructure ที่สะท้อนภาพของการลงทุนในระยะยาวของกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลกนั้น พบว่าผลตอบแทนสุทธิ (Total Return) เป็นบวกราวเฉลี่ย 6.78% นับตั้งแต่วันที่ลดดอกเบี้ยครั้งแรกของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) โดยนับตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตามก่อนหน้านั้นทั้งหมดภายในกรอบ 7, 14, 30 (1 เดือน), 60 (2 เดือน), 90 (3 เดือน), 120 (4 เดือน) และ 180 วัน (6 เดือน) ผลตอบแทนสุทธิของดัชนีต่างติดลบทั้งหมด ซึ่งสะท้อนภาพที่ว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานนั้น จำต้องอาศัยการลงทุนในระยะยาว นอกจากนั้นแล้วในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจหดตัว (Recession) ผลการดำเนินงานของดัชนีก็ตกลงเช่นกัน ดังนั้นแล้วการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานก็ใช่ว่าจะไม่มีความเสี่ยงใดๆ เลย
ดังนั้นแล้ว การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานถือเป็นทางเลือกทางหนึ่งสำหรับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยง แต่ในเวลาเดียวกันก็มีความเสี่ยงที่เฉพาะตัวซึ่งควรพิจารณาด้วยเช่นกัน การลงทุนใดๆ จึงควรปรึกษาจากผู้แนะนำการลงทุนหรือผู้วางแผนการลงทุนที่ท่านใช้บริการอยู่ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม..
โดย..
ภัทรนันท์ ธนียวัน ลิ้มอุดมพร
นักกลยุทธ์การลงทุน บลจ.เอ็กซ์สปริง
อ้างอิง :
1.การแบ่งประเภท adapt จาก KKR: Private Infrastructure Investments: What You Need to Know | KKR
2.ความเสี่ยงจากการลงทุน CFI: Infrastructure Investments – Overview, Characteristics, Risks
3.เอกสารจาก Macquarie Asset Management ภายใต้หัวข้อลักษณะ Infrastructure โดยเอกสารดังกล่าวผ่านการพิจารณาและได้รับการอนุมัติจาก ก.ล.ต. แล้ว