ย้อนกลับไปเมื่อปีก่อน “นายกฯเสี่ยนิด” นายเศรษฐา ทวีสิน ไปประชุมที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา สหรัฐฯ ในฐานะเจ้าภาพการประชุมจะผลักดันเรื่อง1.การสร้างภูมิภาคที่ยืดหยุ่นและเชื่อมโยง (interconnected) 2. การนำนวัตกรรมมาช่วยให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (innovative) 3.อนาคตที่ทุกคนต้องได้เข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาและเติบโตไปพร้อมกัน (inclusive)

หลักใหญ่ใจความคือ การประสานความร่วมมือแต่ละประเทศ การสร้างความยั่งยืนต่างๆ ในประเด็นที่ง่ายที่สุดคือ การรักษาสภาพแวดล้อม ใช้พลังงานสะอาด มุ่งลดโลกร้อน ซึ่งเป็นภาวะที่ต้องพูดถึงอย่างยิ่ง เพราะตอนนี้สภาพภูมิอากาศแปรปรวนอย่างหนัก และเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายข้อ 3

ในครั้งนั้น นายกฯเสี่ยนิดนำภาคธุรกิจชั้นนำของไทยประมาณ 20 ราย เช่น CP อมตะ นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ร่วมเพื่อดึงดูดการลงทุนคู่ขนานไปกับเวทีเอเปก   พบกับตัวแทนภาคเอกชนสหรัฐฯ  80 คน นายกฯเสี่ยนิด ได้กล่าวปาฐกถาเรื่องทิศทางเศรษฐกิจและแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

“แผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” ที่นายกฯเสี่ยนิดได้พูดถึง เชิญชวนนักลงทุนมาร่วมโครงการ คือ แลนด์บริดจ์  เป็นท่าเรือน้ำลึกแหลมอ่าวอ่าง จ.ระนอง เชื่อมท่าเรือน้ำลึกแหลมริ่ว ชุมพร ผ่านทางมอเตอร์เวย์-รถไฟ-ท่อส่งน้ำมันระยะทาง 90 กิโลเมตร  คาดหวังว่า โครงการนี้จะสร้างอุตสาหกรรมใหม่และจะขยายเป็นฐานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่

ไม่ใช่เฉพาะภาคการเกษตร แต่จะมีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องเกิดขึ้นด้วย จะช่วยยกระดับรายได้ประชาชนและเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น อีกประเด็นหนึ่งที่นายกฯเสี่ยนิดได้นำไปบอกนักลงทุนคือ  แม้โครงการยังไม่เกิดขึ้นทันที ต้องใช้เวลานาน แต่เชื่อว่าคนรุ่นใหม่จะเล็งเห็นโอกาสจากโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ  และอาจจะตัดสินใจไม่ย้ายประเทศ

แลนด์บริดจ์ของประเทศไทย จะลดความแออัดในการเดินเรือผ่านช่องแคบมะลากา  กลุ่มเป้าหมายจะเป็น เรือตู้สินค้าจากจีนและยุโรป ช่วยประหยัดต้นทุนได้อย่างน้อย 4% และดำเนินการได้ในเวลา 5 วัน สินค้าจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปยังเอเชียกลางและตะวันออกกลางโดยใช้เรือตู้สินค้า ทำให้ประหยัดต้นทุนได้อย่างน้อย 4% ประหยัดเวลาได้ 3 วัน

นอกจากนี้ นายกฯเสี่ยนิดเยี่ยมชมโรงงานบริษัท Tesla ณ Tesla Fremont Factory และบริษัท HP ในกลุ่มคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและแล็บทอป และบริษัทเอกชนขนาดใหญ่อีกหลายเจ้า ..ซึ่งว่าไปก็น่าเสียดาย ที่การเมืองไทยต้องมาสะดุดต้องเปลี่ยนนายกฯ ช่วงเดือน ส.ค. มิฉะนั้นเราอาจเห็นการค้าการลงทุนมากกว่านี้จากความกระตือรือร้นของนายกฯเสี่ยนิด

ในสัปดาห์นี้ จะเป็นโอกาสสำคัญพิสูจน์ความสามารถของนายกฯอิ๊งค์ และแสดงบทบาทให้โดดเด่นในสายตาชาวไทยและชาวโลก ว่า “ไม่ได้ถูกเลือกมาเพราะไม่มีแคนดิเดตนายกฯคนไหนเหมาะสม ทีมงานนายกฯต้องกระตือรือร้นในการนำเสนอผลการหารือแต่ละฝ่าย โดยเฉพาะบอกได้ว่า  “ภาคเอกชนขนาดใหญ่ไหนที่จะเข้ามาลงทุน”

ในการประชุมครั้งนี้ น่าสนใจว่า นายกฯอิ๊งค์จะชูวาระแลนด์บริดจ์ในการหารือกับภาคเอกชนอีกหรือไม่ หลังจากเรื่องนี้เงียบไปนาน และสิ่งที่คิดว่าประชาชนอยากทราบคือ การลงทุนระบบรางและการขยายสนามบินอู่ตะเภา จะเป็นโครงการที่ดึงดูดนักลงทุนเข้ามาได้แค่ไหน ประมาณการผลดีทางเศรษฐกิจในการดึง จีดีพีขึ้นได้ ยิ่งดี

ขอให้มีข่าวดีๆ ให้ประชาชนมีความหวังเรื่องการค้าการลงทุนบ้าง.