เมื่อวันที่ 10 พ.ย. นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อดีต รมว.การต่างประเทศ กล่าวว่า หลังการปั่นกระแสเสียเกาะกูดซาลงไป ก็ยังมีการเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก เอ็มโอยู 44 แล้วทำเอ็มโอยูใหม่ โดยมีการบิดเบือนข้อเท็จจริงและกฎหมาย 2 ประเด็นใหญ่ คือ ประเด็นแรก กล่าวหาว่าเอ็มโอยู 44 ไปยอมรับเส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาประกาศ และจะทำให้ไทยเสียสิทธิทางทะเล ซึ่งไม่เป็นความจริง ส่วนประเด็นที่กล่าวหาว่าถ้ารัฐบาลนี้เจรจากับกัมพูชาแล้วขุดน้ำมันและแก๊สในพื้นที่พัฒนาร่วมมาใช้ก่อน จะทำให้ไทยเสียสิทธิในเขตทางทะเลแน่ เรื่องนี้ทฤษฎีถูก แต่ข้อสันนิษฐานผิด เนื่องจากรัฐบาลและคณะกรรมการเจทีซีจะทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะการเจรจา ก.แบ่งเขตทางทะเล และ ข.พื้นที่พัฒนาร่วมหรือ JDA ต้องทำคู่ผูกติดกันไป แยกจากกันไม่ได้ ตามที่ระบุในข้อ 2 ของ เอ็มโอยู 44 นี่คือข้อดีของเอ็มโอยู แล้วจะเรียกร้องให้ยกเลิกเอ็มโอยู 44 ทำไม ทั้งๆ ที่มันป้องกันความกังวลของคนคัดค้าน มันย้อนแย้ง
นายนพดล กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น ถ้ายกเลิกเอ็มโอยู 44 จะมีผลตามมาคือ 1.การประกาศเขตไหล่ทวีปของแต่ละฝ่ายยังคงอยู่ พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน 26,000 ตารางกิโลเมตร จึงยังคงอยู่ 2.ไทยและกัมพูชาไม่สามารถเข้าไปสำรวจขุดเจาะน้ำมันและแก๊สในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนได้ 3.ทั้ง 2 ฝ่ายไม่มีความผูกพันที่จะต้องเจรจาเรื่องแบ่งเขตทางทะเลและพัฒนาร่วมควบคู่กันไป ซึ่งไม่เป็นผลดี และ 4.ถ้ายกเลิก ข้อผูกพันให้มีการเจรจาเรื่องแบ่งเขตทางทะเลตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ตามที่ระบุในข้อ 3 ของเอ็มโอยูก็จะสิ้นผล ซึ่งเมื่อไทยไม่ยอมรับเส้นของกัมพูชา นี่คือช่องในการเจรจาให้ได้ข้อสรุปที่สอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์
นายนพดล กล่าวต่อว่า ตนจึงไม่อยากเห็นการสร้างวาทกรรมเสียดินแดนอีก เพราะเคยสร้างความเสียหายให้ประเทศเมื่อครั้งจุดประเด็นเรื่องเขาพระวิหารในปี 2551 ซึ่งทำให้มีการปะทะตามแนวชายแดน มีทหารเสียชีวิต และทำให้ในปี 2554 กัมพูชากลับไปยื่นตีความคำพิพากษาศาลโลกปี 2505 ส่งผลให้ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาเสื่อมทรามลงในเวลานั้น ซึ่งประชาชนน่าจะคิดได้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องการเมืองหรือไม่ ตนเห็นว่าหากมีข้อห่วงใยโดยสุจริตควรส่งไปยังรัฐบาลดีกว่ากล่าวหาและบิดเบือนประเด็น.