ยังคงเป็นประเด็นที่บนโลกออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์ไม่หยุด หลังจากละครเรื่อง แม่หยัว EP : 5 โดยมีการฉายฉากที่แมวถูกวางยาตายในเรื่อง ซึ่งน้องแมวมีท่าทางกระตุกตัวเกร็งจนแน่นิ่งไป งานนี้ทำเอาแฟนละครและเหล่าทาสแมว แห่สงสัยว่าเป็นเพียงเทคนิคถ่ายทำ หรือวางยาจริง หวั่นใจว่านี่คือการทารุณสัตว์ จนมีการติดแฮชแท็ก #แบนแม่หยัว อย่างล้นหลามในโลกออนไลน์
โดยภายหลังทางด้าน “สันต์ ศรีแก้วหล่อ” ผู้กำกับซีรีส์เรื่องแม่หยัว ยืนยันแมวยังไม่ตาย-มีผู้เชี่ยวชาญดูแลทุกขั้นตอน พร้อมเตรียมหลักฐานชี้แจง ซึ่งยังเกิดกระแสวิจารณ์อย่างต่อเนื่องนั้น
-‘ผกก.แม่หยัว’ ยันแมวไม่ตาย-มีผู้เชี่ยวชาญดูแล ชาวเน็ตชี้ไม่มีซีนนี้เดินเรื่องไม่ได้เหรอ
ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 พ.ย. ในโลกออนไลน์ได้เกิดกระแสแชร์โพสต์จากแฟนเพจ “วิภาวดีสัตวแพทย์” หลังได้ออกมาแสดงความเห็นระบุว่า “โดยจรรยาบรรณ สัตวแพทย์จะไม่วางยาสลบสัตว์เพื่อสร้างความบันเทิง” ทีมงานละครเรื่องหนึ่ง โพสต์ข้อความเรื่องราวของละครตอนตรวจสอบยาพิษ โดยใช้แมวสีดำ พร้อมระบุว่า มีการวางยาแมวจริง และแมวมีอาการขย้อนและชักกระตุก จนตัวละครที่กำลังสวมบทบาทเข้าฉากอยู่คิดว่าแมวตายจริง
คำถามคือ การวางยาสลบสัตว์จะต้องกระทำโดยสัตวแพทย์ ตามกฎหมายพ.ร.บ.วิชาชีพการสัตวแพทย์ ทีมงานได้มีการวางยาสลบแมวโดยการควบคุมของสัตวแพทย์หรือไม่ และแมวได้รับการรักษาและยังมีชีวิตอยู่หรือไม่
“ทุกการวางยาสลบมีความเสี่ยง…” เป็นประโยคที่สัตวแพทย์มักพูดเสมอเมื่อพูดคุยเรื่องการผ่าตัดกับเจ้าของสัตว์เลี้ยง ในบางช่วงชีวิตของสุนัข แมว กระต่าย หรือสัตว์เลี้ยงทุกชนิด อาจต้องมีโอกาสเข้ารับการผ่าตัดและวางยาสลบ และปฏิเสธไม่ได้ว่าการวางยาเพื่อผ่าตัดนั้นมีความเสี่ยงเกิดขึ้นแน่นอน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเตรียมตัวสัตว์เลี้ยงให้ดีก่อนที่จะทำการผ่าตัด เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเป็นอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับสัตว์เลี้ยง
ความเสี่ยงในการวางยาสลบ
-ความดันตก
-อุณหภูมิร่างกายตก
-การไหลเวียนของเลือดผิดปกติ
-รบกวนการหายใจ
-แพ้ยาสลบ
-ฟื้นช้าหรือไม่ฟื้นจากการสลบ
การตรวจร่างกายสัตว์เลี้ยงก่อนผ่าตัด การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพื่อลดความเสี่ยงดังที่กล่าวมา และช่วยให้สัตว์ที่เข้ารับการผ่าตัดฟื้นจากการสลบอย่างปลอดภัย
ก่อนผ่าตัดแนะนำให้พาสัตว์เลี้ยงมาเข้ารับการตรวจสุขภาพเบื้องต้นกับสัตวแพทย์เพื่อประเมินสภาพร่างกาย ดังนี้
-ตรวจร่างกายและสัญญาณชีพ
-ตรวจเลือดว่าพร้อมต่อการวางยาสลบหรือไม่
-ค่าเลือดที่ควรตรวจก่อนการวางยา ได้แก่ ค่าเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด
-ตรวจค่าเคมีในเลือดต่างๆ เช่น ค่าของเสีย ค่าไต ค่าตับและถุงน้ำดี และปริมาณโปรตีนในกระแสเลือด
-บางกรณีแนะนำตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อต่างๆ ก่อนผ่าตัดด้วย เช่น พยาธิเม็ดเลือด
คืนก่อนผ่าตัด ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ?
หากสุขภาพและผลตรวจเลือดของสัตว์อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถผ่าตัดได้ สิ่งที่จะต้องเตรียมในคืนก่อนผ่า คือ การงดน้ำและอาหาร
-สุนัขและแมวโตเต็มวัย แนะนำให้งดอาหาร 8-12 ชั่วโมง งดน้ำ 4-6 ชั่วโมง
-ลูกสัตว์อายุน้อยกว่า 4 เดือน งดอาหาร 2-3 ชั่วโมง และไม่จำเป็นต้องงดน้ำ
“การวางยาสลบ ต้องมีอุปกรณ์ ยา กู้ชีพ รอช่วยชีวิตกรณีฉุกเฉินทุกครั้ง .. และต้องมีสัตวแพทย์ดูแลสัตว์ตัวนั้นจนกว่าจะฟื้นจากการวางยาสลบ” ช่วงฟื้นจากยาสลบ แมวต้องอยู่ในพื้นที่จำกัด เพราะเค้าควบคุมตัวเองไม่ได้ อาจจะวิ่ง ตกใจภาพ ตกใจเสียง ถ้าเค้าวิ่งไป แล้วตกน้ำ รถชน หมากัด ตกจากที่สูง หรือวิ่งชนวัตถุที่แข็งทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตตามมาได้
“แม่หมอวางยาสลบหมาแมว มาเกือบ 25 ปี ยังตื่นตัว ตื่นเต้นและไม่เคยละสายตาจากสัตว์ตัวน้ันเลย แม่หมอหวังว่า น้องแมวสีดำตัวนั้นในละครใช้ในการถ่ายทำยังคงอยู่รอดปลอดภัยนะคะ”..
ขอบคุณข้อมูลจาก @วิภาวดีสัตวแพทย์