นายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) เปิดเผยว่า ผลการเปิดให้ประชาชนยื่นคำขอรับชำระหนี้ของบริษัทสินมั่นคงประกันภัย ผ่าน กปว. ซึ่งได้ปิดรับยื่นไปเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 67 ที่ผ่านมา รวมเวลา 60 วันนั้น มีเจ้าหนี้ยื่นเข้ามา 2.5 แสนราย น้อยกว่าจำนวนเจ้าหนี้ที่มีสิทธิ 8-9 แสนราย คิดเป็นยอดมูลหนี้ที่ยื่นเข้ามา 2.2 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น  50% ของมูลหนี้ทั้งหมดกว่า 4 หมื่นล้านบาท 

“กระบวนการหลังจากนี้  กปว.ในฐานะผู้ชำระบัญชีของสินมั่นคงประกันภัย จะพิจารณารับรองมูลหนี้ และทำการเฉลี่ยทรัพย์จากเงินหลักประกันที่สินมั่นคงให้ไว้กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) 600 กว่าล้านบาท ให้กับเจ้าหนี้ และหากยังมีเงินไม่เพียงพอ กปว.ก็จะนำเงินในกองทุนฯ ที่มีอยู่ทยอยจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ตามมูลหนี้ที่แท้จริง แต่สูงสุดไม่เกินคนละ 1 ล้านบาท”

ส่วนกรณีเจ้าหนี้ที่ยื่นขอชำระหนี้กับ กปว.ไม่ทันตามกำหนด จะต้องรอให้กองทุนฯ ยื่นเรื่องการล้มละลายของสินมั่นคง ต่อศาลล้มละลายกลางเสียก่อน  เมื่อศาลพิจารณารับคำร้องและประกาศพิทักษ์ทรัพย์แล้ว จะเปิดให้ยื่นคำร้องชำระหนี้อีกครั้ง โดยเจ้าหนี้สามารถยื่นคำร้องผ่านศาลล้มละลายกลาง หรือที่ กปว.ได้ จากนั้นรอให้ศาลพิจารณาคดี ทำการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่เหลืออยู่ของสินมั่นคง เช่น รถยนต์ อาคาร ที่ดิน เพื่อนำเงินที่ได้มาเฉลี่ยทรัพย์จ่ายแก่เจ้าหนี้ภายหลัง โดยจะไม่ได้รับการการันตีจาก กปว. สูงสุด 1 ล้านบาทเหมือนกับคนที่ยื่นทันช่วงแรก และอาจได้รับเงินช้ากว่าด้วย

นายชนะพล กล่าวว่า สำหรับสถานะกองทุนประกันวินาศภัย ล่าสุด หลังจากปิดรับทวงหนี้จากสินมั่นคงแล้ว จะมีหนี้เพิ่มขึ้นจากเดิม 4.8 หมื่นล้านบาท มีหนี้ใหม่จากสินมั่นคง 2.2 หมื่นล้านบาท รวมเป็น 7 หมื่นล้านบาท ซึ่ง กปว.จะเร่งพิจารณารับรองมูลหนี้ทั้งหมดให้เสร็จใน 1-2 ปี เพื่อให้ทราบยอดมูลหนี้ที่แท้จริง เพราะขณะนี้ประเมินแล้วว่า น่าจะมีการยื่นขอทวงหนี้ที่ซ้ำซ้อนกันอยู่พอสมควร ซึ่งหากตรวจสอบข้อมูลเสร็จแล้ว คาดหนี้ที่แท้จริงอาจเหลือเพียง 5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น

ขณะเดียวกัน กปว.กำลังจัดจ้างที่ปรึกษาทางการเงิน เข้ามาช่วยดูแลการชำระหนี้ และจัดหาแหล่งเงินเพิ่มเติมของกองทุน เพื่อมาจ่ายให้กับเจ้าหนี้ของบริษัทประกันที่ปิดตัวไปทั้งหมดด้วย  โดยล่าสุด รมว.คลัง ได้มีแนวทางพิจารณาให้แก้กฎหมาย ให้เรียกเก็บเงินสมทบจากบริษัทประกันวินาศภัย เข้ามาในกองทุนฯ มากขึ้น จากปัจจุบันที่เก็บอัตรา 0.5% ของเบี้ยประกัน เพื่อให้กองทุนฯ มีรายได้เพิ่ม ขณะเดียวกัน กองทุนฯ พิจารณาออกตราสาร หรือหุ้นกู้ เพื่อหาแหล่งเงินกู้เพิ่มเติม นำมาใช้หนี้กับเจ้าหนี้ด้วย ซึ่งจะได้ข้อสรุปภายใน 1-2 ปี